“จุรินทร์” ร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีสารไทย-เปรู อัพเกรด FTA

“จุรินทร์” ร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีสารไทย-เปรู อัพเกรด FTA ปลื้ม ปี 2564 มูลค่าการค้า ไทย-เปรู โตถึง 24.06% กว่า 15,700 ลบ.

วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 4 ภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรู เพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอํานวยความสะดวกทางการค้า ว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการลงนามระหว่าง นางอานา เซซิเลีย เฮร์บาซิ ดิอัซ รัฐมนตรีช่วยว่าการด้านการค้าต่างประเทศ สาธารณรัฐเปรู และนายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์

นับว่าเป็นความสำเร็จสำคัญของไทยและเปรูที่ได้ร่วมกันดำเนินการเจรจาปรับปรุงกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างไทย-เปรู มาตั้งแต่ปี 2563 จนกระทั่งได้ข้อสรุปร่วมกัน และพร้อมลงนามความสำเร็จในวันนี้

การค้าระหว่างไทยและเปรูในปี 2564 มีมูลค่าเกือบ 15,700 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 24.06 สะท้อนให้เห็นประโยชน์และความสำคัญของการมีความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างกันนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา

ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุว่า พิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 4 เพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า มีสาระสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ การปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อบท กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการค้าในปัจจุบันและในอนาคต

อาทิ อนุญาตให้ใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ใช้ การลงนามและประทับตราด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มเติมข้อบทให้รองรับการจัดทำหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต เพื่อให้ข้อบทด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-เปรู มีมาตรฐานสูง เท่าเทียมกับความตกลง FTA ฉบับอื่น ๆ

นอกจากนี้ ยังได้ปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า จากระบบฮาร์โมไนซ์ฉบับปี 2550 เป็นระบบฮาร์โมไนซ์ฉบับปี 2560 เพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติขององค์การศุลกากรโลกที่มีการปรับโอนพิกัดศุลกากรเป็นประจำทุก 5 ปี ซึ่งจะทำให้ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-เปรู มีความทันสมัย และช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ จะช่วยส่งเสริมบรรยากาศทางการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศต่อไป

ชวนญี่ปุ่นลงทุนไทยเพิ่ม พร้อมใช้ประโยชน์ RCEP ร่วมกัน

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ส่วนการหารือทวิภาคี (Bilateral discussions)กับนายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ประเด็นทีหารือมีด้วยกัน อาทิ นโยบายส่งเสริมการลงทุนระหว่างเอเชียกับญี่ปุ่น หรือ Japan Investing for the Future ไทยก็เป็นประเทศที่ญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุน โดยมุ่งเน้นการลงทุนที่ใช้นวัตกรรม ซึ่งไทยก็พร้อมส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของญี่ปุ่น และขณะเดียวกันก็ขอให้ช่วยดูแลนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในญี่ปุ่นซึ่งมีมากกว่า 30 ราย ที่เป็นรายสำคัญในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ทั้ง 2 ประเทศเห็นพ้อง ว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ RCEP ให้มากขึ้น จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันในกลุ่มประเทศ RCEP 15 ประเทศส่วนประเด็นอินโด-แปซิฟิก ญี่ปุ่นยินดีที่ไทยได้แจ้งความจำนงเข้าร่วมนับหนึ่งการเจรจา กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิกต่อไปในอนาคต

โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในปี 2564 มีมูลค่าร่วมกัน 60,670 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.123 ล้านล้านบาท ญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 2 ของไทยรองจากจีน ตัวเลขการส่งของไทยไปญี่ปุ่นปี 2564 มีมูลค่าคิดเป็น 24,985 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 8.74 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 20% สินค้าที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นสำคัญ เช่น รถยนต์ ไก่แปรรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น สำหรับการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย ถือว่าญี่ปุ่นลงทุนมากเป็นลำดับที่หนึ่งในประเทศไทย มีด้วยกันทั้งสิ้นกว่า 6,000 บริษัท