กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ และอีกหลายอำเภอ

กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำท่วมขังตัวเมืองเชียงใหม่ และอีกหลายอำเภอ หลังเกิดฝนตกหนักสะสมหลายวัน น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำสาขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 65 ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นผลทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง และน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในหลายพื้นที่  โดยที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ พื้นที่ตลาดต้นพะยอม ต.สุเทพ เกิดน้ำหลากจากดอยสุเทพ-ปุย ไหลมาตามถนนสุเทพ (หลัง มช.) 

เนื่องจากไม่มีทางระบายน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมผิวจราจรประมาณ 20-30 เซนติเมตร และได้ไหลไปลงคลองส่งน้ำสายใหญ่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง, แยกโรงแรมเชียงใหม่ภูคำ ต.สุเทพ เกิดน้ำหลากจากดอยสุเทพ-ปุย ไหลมาตามลำห้วยแก้วและห้วยช่างเคี่ยน, ถนนโชตนา ต.ช้างเผือก เกิดน้ำหลากในลำห้วยแม่หยวก และทำให้เกิดน้ำท่วมขังบนถนนโชตนา ประมาณ 30-40 เซนติเมตร, อำเภอจอมทอง บ้านลุ่มหมู่ 4 ต.บ้านหลวง น้ำแม่กลางไหลล้นตลิ่งเอ่อเข้าท่วมพื้นที่บ้านแม่ลุ่มในวงกว้าง เนื่องจากเป็นหมู่บ้านตามแนวเส้นทางน้ำผ่าน,

บ้านสี่แยกน้อย ม.6 ต.ข่วงเปา เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรของราษฎร, ฝายแม่แจ่ม ต.บ้านแปะ เกิดน้ำหลากไหลผ่านฝาย ทำให้เกิดการกัดเซาะตลิ่งด้านท้ายฝายฝั่งขวาได้รับความเสียหาย, ฝายเหมืองใหม่ ต.บ้านหลวง เกิดน้ำหลากในน้ำแม่กลาง กัดเซาะตลิ่งด้านท้ายฝายฝั่งขวาได้รับความเสียหาย, บ้านหนองห่ายสามัคคี ม.13 ต.ข่วงเปา เกิดน้ำท่วมขังทางหลวงหมายเลข 108 ช่วง กม.51 สัญจรได้เส้นทางเดียว โดยเส้นทางขาเข้าเมืองเชียงใหม่ไม่สามารถใช้งานได้

อำเภอดอยหล่อ บ้านสบอาว หมู่ 4 ต.สันติสุข ปริมาณน้ำหลากในลำน้ำแม่ขานเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อาศัยของราษฎร ประมาณ 90 หลังคาเรือน และพื้นที่การเกษตรของราษฎรได้รับความเสียหาย, อำเภอสันป่าตอง  ฝายดอนปิน หมู่ 10 บ้านทุ่งสะโตก เกิดน้ำหลากในลำน้ำแม่วางปริมาณมาก ทำให้เอ่อล้นตลิ่งด้านหน้าฝาย (บริเวณสะพานข้ามน้ำแม่วาง) ทำให้สะพานได้รับความเสียหายบางส่วน ส่งผลกระทบต่อการสัญจรของราษฎร

ส่วนอำเภออมก๋อย เกิดน้ำเอ่อเข้าท่วมในพื้นที่ ต.อมก๋อย ระดับน้ำในลำน้ำแม่ต๋อม และลำน้ำแม่ตื่น มีระดับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้น้ำในลำน้ำแม่ต๋อมล้นตลิ่งไหลหลากเข้าท่วมเส้นทางคมนาคม บริเวณสะพานคู่รัก ตำบลอมก๋อย, บ้านแม่ลอง ต.หางดง เกิดปริมาณน้ำหลากในห้วยแม่ลอง,   อำเภอแม่แจ่ม เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ หมู่ 18 บ้านเจียง, หมู่ 3 บ้านสันหนอง, หมู่ 15 บ้านพุทธเอ้น, หมู่ 5 บ้านนางแล ต.ช่างเคิ่ง,หมู่ 10 บ้านไร่,หมู่ 5 บ้านทับ ต.ท่าผา

อำเภอแม่วาง, ฝายปูโล้ บ้านสารภี หมู่ 5 ต.ทุ่งรวงทอง  เกิดทรุดตัวเนื่องจากมีปริมาณน้ำหลากจากน้ำแม่วาง และมีเศษสวะลอยติดบริเวณด้านหน้าฝาย, สะพานเข้าหมู่ที่ 6 บ้านท่า ต.ทุ่งรวงทอง มีน้ำป่าไหลหลากในน้ำแม่วางปริมาณมาก และเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่บ้านเรือนของราษฎรตามแนวลำน้ำทั้งสองฝั่ง, อำเภอแม่อาย บ้านเมืองหนอง หมู่ 10 ต.แม่สาว เกิดน้ำหลากจากน้ำแม่สาว กัดเซาะคอสะพานคอนกรีตในเขตบ้านเมืองหนอง ปิดการสัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าว 

ทั้งนี้ โครงการชลประทานในพื้นที่ได้ดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว ดังนี้

1. ได้หยุดการส่งน้ำเข้าคลองสายใหญ่แม่แตง ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. 2565 เพื่อใช้พื้นที่คลองรองรับน้ำฝั่งตะวันตก (ห้วยแก้วและห้วยช่างเคี่ยน) ได้เต็มศักยภาพ ซึ่งจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น คลองส่งน้ำสายใหญ่แม่แตง ได้รับน้ำทั้งหมดจากห้วยแก้วและห้วยช่างเคี่ยน ปริมาณรวมสูงสุด 31 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่เขตเมืองเชียงใหม่ชั้นใน

และได้ร่วมบูรณาการกับจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ โดยการวางกระสอบกั้นน้ำให้ไหลลงคลองส่งน้ำสายใหญ่โครงการฯ แม่แตง

2. ด้านท้ายคลองส่งน้ำสายใหญ่แม่แตง ได้ยกบานเพื่อระบายน้ำและรอรับมวลน้ำที่จะหลากจากฝั่งตะวันตกของตัวเมืองเชียงใหม่ โดยรับน้ำจากห้วยแก้วแล้วระบายไปลงทางทิ้งน้ำท่าเดื่อ ในอัตรา 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.2565 และยังคงระบายน้ำต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

3. ได้ประสานเจ้าหน้าที่เทศบาลช้างเผือกและเจ้าหน้าที่ประจำจุดต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์และประเมินความเสียหาย พร้อมให้ความช่วยเหลือในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังต่าง ๆ

4. สำนักงานชลประทานที่ 1 และโครงการฯ แม่แตงได้ลงสำรวจพื้นที่ประสบอุทกภัยชุมชนที่อยู่ตามแนวทางระบายน้ำหลากและในพื้นที่ลุ่มต่ำที่น้ำท่วมขัง สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้กับสู่ภาวะปกติ 

5. โครงการชลประทานในพื้นที่ ได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงสำรวจพื้นที่ประสบอุทกภัยและแจ้งเตือนชุมชนที่อยู่ตามแนวทางระบายน้ำหลากให้ทราบและเฝ้าระวังน้ำเอ่อท่วม ในพื้นที่ลุ่มต่ำที่น้ำท่วมขัง

และได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้กับสู่ภาวะปกติ พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของอาคารชลประทานและพื้นที่ประสบภัย เพื่อพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ต่อไป  

การบริหารจัดการน้ำดังกล่าวสอดรับกับ 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ที่ทางสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ชี้แจงให้สื่อมวลชนทราบเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 เป็นการคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมของเมืองเชียงใหม่ฝั่งตะวันตกและกำหนดเส้นทางการระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วม โดยสามารถปฏิบัติงานได้ตามแผนที่กำหนดไว้ 

ทั้งนี้ จากแนวโน้มและการคาดการณ์ปัจจุบัน ฝนได้หยุดตกในทุกพื้นที่แล้ว และระดับน้ำท่วมขังในพื้นที่มีแนวโน้มลดลง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็วๆนี้ หากไม่มีฝนตกในพื้นที่