เอเปค ไร้แถลงการณ์ร่วม แต่ย้ำเดินหน้าต่อ FTAAP ตามเป้าหมาย 2040

จุรินทร์ เผยภายหลังการร่วมประชุมเอเปค ระหว่างวันที่ 21-22 พ.ค. 65 แม้ผลการประชุมจะไร้แถลงการร่วมกันทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ จากความคิดเห็นที่ยังไม่สอดคล้องกัน แต่ย้ำทุกอย่างยังเดินหน้าไปได้ พร้อมผลักดันให้เกิดเอฟทีเอ-เอเปค FTAAP ให้ได้ตามเป้าหมาย 2040

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT) ซึ่งหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคปี 2565 นี้คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.” ว่า การประชุมครั้งนี้ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วม 21 เขตเศรษฐกิจได้ เนื่องจากยังมีความคิดเห็นที่ยังไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากประเด็นสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและไม่สามารถระบุได้เนื่องจากเป็นความคิดเห็นในที่ประชุม

แต่อย่างไรก็ดี ในบางเขตเศรษฐกิจก็มีความคิดเห็นตรงกันไม่ใช่ว่าจะไม่เห็นร่วมกันทั้งหมด แต่เมื่อความคิดเห็นยังไม่สอดคล้องกันจึงไม่สามารถแถลงการณ์ร่วมได้ ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นซึ่งการประชุมเอเปคที่ผ่านมาในปี 2017 ,2018 ก็ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ แต่การประชุมเอเปคก็ยังสามารถเดินหน้าและขับเคลื่อนต่อไปได้

รวมไปถึงการประชุมครั้งต่อไปที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพการประชุม ดังนั้น ทุกอย่างยังคงเดินหน้าไปได้ รวมไปถึงการผลักดันเอฟทีเอเอเปค ซึ่งที่ประชุมมีความคิดเห็นที่เป็นเอกฉันท์ที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นในปี 2040 ให้ได้แต่หากประเด็นใดที่ผลักดันให้เกิดขึ้นก่อนได้ก็สามารถขับเคลื่อนได้ก่อน

“ถึงแม้ว่าการประชุมครั้งนี้จะไม่ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วม แต่ตนถือว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จและประเทศไทยเคารพความเห็นของทุกเขตเศรษฐกิจรวมทั้งประเทศไทยยังพร้อมทำงานร่วมกับเอเปคอย่างเข้มแข็งต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดตั้ง FTAAP การสนับสนุนการค้าในรูปแบบพหุภาคีรวมทั้ง WTO และการจับมือเดินไปด้วยกันอยู่ร่วมกันกับโควิดและอนาคตต่อไป

เอเปคยังร่วมผลักดัน เอฟทีเอ-เอเปค

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ผลการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพวันนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะหัวข้อหลักที่ประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพกำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “Open. Connect. Balance”เป็นไปตามเป้าหมายและบรรลุผลเป็นรูปธรรมทั้งจากความเห็นของที่ประชุมและที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตในเรื่องของ Open คือ การเปิดกว้างและเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน ผลรูปธรรมที่ทุกเขตเศรษฐกิจเห็นร่วมกันคือการที่เราจะนำเอเปค ไปสู่การจัดทำ FTAAP (Free Trade Area of the Asia-Pacific)ให้เกิดขึ้นในอนาคต 

สำหรับเรื่อง Connect หรือการเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจทั้งในส่วนของบุคคลหรือสินค้าและบริการ ได้มีการตั้งคณะทำงานที่เรียกว่า APEC Safe Passage Task Force เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไปให้เกิดผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และส่วนคำว่า Balance หรือสร้างสมดุล มีความเห็นที่ตรงกันในทุกเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุมให้มุ่งเน้นการสร้างสมดุลในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงานและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทุกระดับ ตั้งแต่คนตัวใหญ่จนกระทั่งถึงคนตัวเล็ก ในระดับ SMEs และMicro-SMEs เแรงงาน ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง สตรีและอื่นๆ

นอกจากนี้ สัญญาณของความสำเร็จในการประชุมครั้งนี้ และสะท้อนความสำเร็จของประเทศไทย คือ การที่ทุกเขตเศรษฐกิจได้ยอมรับและสนับสนุน BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ของไทยให้เป็นวิสัยทัศน์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปคในอนาคต

อย่างไรก็ดี แม้การประชุมครั้งนี้ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ เช่นเดียวกับบางครั้งที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ผลการประชุมทั้งหมดนี้ จะมีผลลัพธ์ในรูปถ้อยแถลงหรือแถลงการณ์ของประธานการประชุมเอเปค คือประเทศไทยในรูป  Chair Statement แทน ซึ่งได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการยกร่าง เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมามีส่วนร่วมในการยกร่างและจะประกาศเป็นทางการในรูปเอกสารต่อไป

สำหรับภาพรวมการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพตลอด 2 วันที่ผ่านมารวมทั้งวันนี้ ในฐานะประธานในที่ประชุม ตนได้แสดงความชื่นชมกับรัฐมนตรีการค้าเอเปคจากทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ รวมทั้งสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคหรือที่เรียกว่า ABAC (สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค) และผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสมาชิกเอเปคในการผลักดันและกำหนดทิศทางผ่านการแสดงวิสัยทัศน์และมุมมองที่หลากหลายในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อฝ่าวิกฤต โควิด-19 ไปด้วยกัน

รวมทั้งการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตามหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคประจำปี 2022 ที่ประเทศไทยกำหนดขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance”

เอเปคร่วมฝ่าวิกฤตโควิด

นายจุรินทร์ กล่าวว่า การประชุมเอเปคในช่วงเช้าวันนี้ มีหัวข้อสำคัญคือการหาข้อสรุปร่วมกันในการอยู่ร่วมกับโควิด-19 ร่วมกับอนาคต ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญหัวข้อหนึ่งในการประชุมเอเปคครั้งนี้ ได้ข้อสรุปจากความเห็นของรัฐมนตรีฯและผู้แทนเขตเศรษฐกิจการค้าทาง 21 เขต แบ่งเป็น 7 ประเด็นหลัก ประเด็นที่หนึ่ง ได้มีข้อเสนอในเรื่องการเคลื่อนย้ายบุคคลข้ามพรมแดนควรมีการอำนวยความสะดวกเกิดขึ้นอีกครั้งโดยเฉพาะการมุ่งเน้นการเดินทางที่ปลอดภัย และการใช้ระบบที่รองรับการเดินทางติดต่อระหว่างกันให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น

ประเด็นที่สอง ที่ประชุมมีความเห็นเรื่องการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับระบบโลจิสติกส์ ซึ่งหลายประเทศมีปัญหาในเรื่องการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบมาใช้เพื่อการผลิตและวัตถุดิบที่มีราคาสูงขึ้น ควรมีการอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานเหล่านี้ด้วยระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพระหว่างกันซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนและธุรกิจต้องการเป็นพิเศษ

ประเด็นที่สาม หลายเขตเศรษฐกิจมีข้อเสนอการสนับสนุนให้มีการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะแหล่งทุนห่วงโซ่อุปทาน สำหรับทุกภาคส่วนการผลิตและภาคส่วนเศรษฐกิจโดยเฉพาะสำหรับ SMEs และ Micro SMEs กลุ่มเปราะบาง สตรี ผู้ด้อยโอกาส แรงงานและผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น

ประเด็นที่สี่ หลายประเทศมีความเห็นว่าจุดยืนด้านมนุษยธรรมเพื่ออนาคต รวมทั้งสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงมุ่งเน้นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงวัคซีนให้มากที่สุดรวมถึงดูแลและป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

ประเด็นที่ห้า จะต้องจับมือกันในการมุ่งขจัดอุปสรรคทางการค้าและเปิดกว้างอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน มุ่งเน้นการสร้างกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการในเวทีสากลทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันและหลังโควิด โดยใช้เศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซหรือรูปแบบอื่นๆให้เป็นประโยชน์และเข้ามามีบทบาทให้มากขึ้น

ประเด็นที่หก การมุ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทุกเขตเศรษฐกิจสนับสนุนการนำ BCG Model มาใช้ รวมถึงการใช้ใน MSMEs ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการรวมทั้งการมุ่งเน้นในเรื่องสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานทางเลือกการใช้ ไฮโดรเจนเป็นต้น

รวมทั้งการสนับสนุนส่งเสริมการเปิดตลาดพลังงานสะอาดต่อไปและมีเขตเศรษฐกิจหนึ่งให้ความเห็นว่าการปรับปรุงสภาพอากาศไม่มีใครทำคนเดียวได้แต่ต้องร่วมมือกันภายใต้เอเปคและภายใต้ OECD(องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) และ WTO ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปล่อยคาร์บอน การลดการอุดหนุนพลังงานดั้งเดิมหรือรูปแบบอื่นใด

และสุดท้ายมีการพูดกันเพื่อสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานในกลุ่มประเทศเอเปคเกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประเด็นความเห็นที่เป็นข้อสรุปจากการหารือกันในหัวข้อการอยู่ร่วมกับ โควิด-19 และอนาคตในการประชุมช่วงเช้า