รองนายกฯจีน นำทัพนักลงทุน ประชุมJCจับคู่ธุรกิจ-บุกEEC

“สมคิด” สั่ง “พาณิชย์” ร่างยุทธศาสตร์พันธมิตรด้านการค้า-ลงทุน รับ “หวาง หย่ง” รองนายกฯจีน นำทัพ 300 นักธุรกิจจีน-ฮ่องกงเยือนไทย ระหว่างวันที่ 19-20 ม.ค.นี้ ตั้งเป้าดึงจีนเข้าลงทุนใน EEC พร้อมหนุนไทยขึ้นเป็น “เกตเวย์ลุ่มแม่โขงเจาะเข้าจีนตอนเหนือ” ผนึก 11 มณฑลจีนใต้ ตามกรอบสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง หรือ PPRD เชื่อมอาเซียนเกาะขบวนเส้นทางสายไหม ด้านหอการค้าไทย-จีนทำสัญญาผุดนิคม 50,000 ล้านบาท หวังบูมจีนตอนใต้

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้เตรียมยุทธศาสตร์พันธมิตรระหว่างไทย-จีน (Strategic Parthnership)เนื่องในโอกาสที่ นายหวาง หย่ง รองนายกรัฐมนตรีจีน จะนำคณะเอกชนจีนและฮ่องกง 300 ราย เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (Joint Committee on Trade, Investment and Economic Cooperation :JC)ระดับรองนายกรัฐมนตรี ในระหว่างวันที่ 19-20 มกราคม 2561 เพื่อผลักดันการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์พันธมิตรไทย-จีน Strategic Parthnership ต้องการสร้างความเชื่อมโยงกับจีนทุกมิติ ทั้งการค้า บริการ และการลงทุน โดยเป้าหมายหลักสำคัญในการพบกันครั้งนี้ ฝ่ายไทยต้องการจูงใจให้จีนเข้ามาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และมุ่งเน้นให้ประเทศไทยเชื่อมโยงกับกลุ่ม 11 มณฑลทางจีนตอนใต้ และมีความตกลงกันอยู่แล้วในกรอบเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง (Pan Pear River Delta : PPRD) ซึ่งกลุ่ม PPRD มีขนาดใหญ่เท่ากับเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียน ทั้งในด้านประชากร มูลค่าการค้าและการลงทุน และเป็นประตูเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน (Belt Road Initaitive หรือ BRI) ทั้งเส้นทางรถไฟและเส้นทางเดินเรือเชื่อมโยงกับอาเซียน

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมองถึงเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงประเทศลุ่มแม่โขง หรือ “เกตเวย์ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง” เชื่อมไปสู่ทางจีนตอนเหนือ-เมียนมา-อินเดีย โดยผ่านเส้นทางไฮเวย์ 3 ประเทศ (Trilateral Highway) ขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างแล้วเหลือเพียงการปรับปรุงสะพานเชื่อมต่ออย่างน้อยคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งไทยจะต้องวางยุทธศาสตร์ล่วงหน้าเพื่อให้เอกชนสามารถเตรียมการลงทุนในอนาคตได้

“การเข้ามาของคณะเอกชนจีนครั้งนี้คงมุ่งเน้นเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการเปิดตลาดบริการ ซึ่งตอนนี้จีนเข้ามาลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานได้เริ่มต้นไปแล้ว และคงต้องดำเนินการต่อเนื่องในอนาคต ส่วนไทยต้องการเชื่อมโยงทั้งจีนตอนเหนือและตอนใต้ เพราะหากการขนส่งสินค้าระหว่างกันสะดวกจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและยังทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการดึงดูดการลงทุนจากทางฝั่งตะวันตก สหรัฐ สหภาพยุโรป ขณะที่รัฐบาลชุดนี้มีเวลา 1 ปีกว่าจึงต้องลงมือเร็ว ส่งเสริมการค้า-การลงทุนไปพร้อม ๆ กัน” น.ส.ชุติมากล่าว

สำหรับ 11 มณฑลในกลุ่ม PPRD มีศักยภาพในด้านการลงทุนด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย มณฑลกวางตุ้ง มีความพร้อมในด้านการผลิตและศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์, มณฑลฝูเจี้ยน-เจียงซี-หูหนาน อุตสาหกรรมพลังงาน ปิโตรเลียมและถ่านหิน, มณฑลกุ้ยโจว พลังงานไฟฟ้า, มณฑลเสฉวน แรงงานคุณภาพสูง, มณฑลยูนนาน ด้านการท่องเที่ยว, มณฑลไห่หนาน อุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ, เขตปกครองตนเองกว่างสี มีความพร้อมด้านแร่ธาตุ พลังงาน และการท่องเที่ยว, ฮ่องกง ในกลุ่มโลจิสติกส์ การค้า การเงิน บริการ และมาเก๊า ในธุรกิจบันเทิงและท่องเที่ยวครบวงจร โดยปัจจุบันกลุ่ม PPRD มียุทธศาสตร์ 5 ด้านในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ พื้นที่ทดสอบ International Gateway ฐานการผลิตขั้นสูง-อุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นผู้นำในการพัฒนาสำหรับพื้นที่ใกล้เคียง

เตรียมลงพื้นที่ EEC

นางสาวชุติมากล่าวว่า การเชื่อมโยงด้านการลงทุนจะต้องดำเนินการควบคู่กับทางการค้า ซึ่งขณะนี้ไทยมีความตกลงเขตการค้าเสรีกับจีน ทั้งในกรอบอาเซียน-จีนที่ทยอยลดภาษีมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันตัวเลขการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจาก 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็น 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และในวันที่ 1 มกราคม 2561 ประเทศไทยจะลดภาษีสินค้ากลุ่มสุดท้าย จำนวน 400 รายการ เป็น 0-5% ซึ่งอาเซียนตั้งเป้าจะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 1 เท่าตัว หรือประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 ไทยก็คาดหวังว่าจะสามารถผลักดันการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นได้เท่าตัวเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันการค้าไทย-จีนมีมูลค่า 65,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาคการลงทุนเพิ่มขึ้น 4 เท่า 1.96 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 9.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะเดียวกัน ไทยเตรียมลดภาษีสินค้าภายใต้กรอบอาเซียน-ฮ่องกง ซึ่งเพิ่งลงนามในปีนี้ จะเริ่มลดภาษีในวันที่ 1 มกราคม 2562 ในด้านการค้าฮ่องกง-ไทยมีมูลค่าประมาณ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ฮ่องกงถือเป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน หรือ Belt Road Initaitive (BRI) จำเป็นต้องมีการสร้างสัมพันธไมตรีต่อกันเพื่อเชื่อมโยงกับ China Indochina Economic Corridor

สำหรับกำหนดการในการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (Joint Trade Comittee-JC) วันที่ 19 มกราคม 2561 จะมีการจับคู่ธุรกิจกับภาคเอกชนไทย-จีน และฮ่องกง จากนั้นวันที่ 20 มกราคมจะเชิญนักลงทุนจีนลงพื้นที่ EEC เพื่อให้นักลงทุนจีนทราบถึงทิศทางนโยบายของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมการลงทุน โดยการจับคู่ธุรกิจ ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) และสถาบันการเงิน กำลังเป็นผู้รวบรวมรายชื่อของเอกชนไทยอยู่

ขณะที่ นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่าในส่วนของบีโอไอจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้าร่วมประชุม JC เช่นกัน เพื่อชี้แนะถึงโอกาสและสิทธิประโยชน์การลงทุนในไทย เบื้องต้นทางสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (Executive Director of Hong Kong Trade Development Council-HKTDC) จะเป็นหน่วยงานหลักที่จะนำทีมเอกชนมาเพื่อจัดสัมมนาและลงพื้นที่ EEC

หอไทย-จีนผุดนิคม 50,000 ล้าน

รายงานข่าวจากหอการค้าไทยระบุว่า ในเดือนมกราคม 2561 จะมีการลงนามสัญญาการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จีนตอนใต้ โดยมีงินลงทุนประมาณ 50,0000 ล้านบาท โดยการลงนามในสัญญาฉบับนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทยและหอการค้าจีน เนื่องจากปัจจุบันตลาดจีนตอนใต้มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ จากมูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีนตอนใต้ 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งไทยส่งออก 24%

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงนโยบายการเป็นเกตเวย์ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงว่า “มีโอกาสเป็นไปสูง” เพราะขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายมีการลงทุนในระบบโลจิสติกส์ที่มีความพร้อมมาก ทั้งเส้นทางเชื่อมโยงไทย-จีน 4 เส้นทาง เช่น R3A เชื่อมไทย-ลาว-จีน ล่าสุดจีนมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงมาต่อเชื่อมแล้ว หากไทยสามารถเชื่อมโยงภูมิภาคได้ ไม่เพียงจะเปิดตลาดขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากร 1,400 ล้านคน แต่ยังช่วยส่งเสริมการการลงทุน และการใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกันในห่วงโซ่การผลิต

“แม้นโยบายเส้นทางสายใหม่ยุคใหม่ หรือ BRI ไม่ได้โฟกัสอาเซียนโดยตรงมากนัก แต่นโยบายนี้มีการรีไวส์ตลอดเวลา และจีนก็มีลงทุนในอาเซียน 70,000 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 17% ของการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมด โดยจีนสนใจลงทุนในกัมพูชา เวียดนาม เมียนมาและอินโดนีเซีย เพราะมีค่าแรงงานต่ำแต่ในช่วงหลังจีนลดการลงทุนในเวียดนามลง เพราะมีกฎระเบียบมาก และที่น่าสนใจ คือ จีนได้มีนโยบายลดการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหนักในประเทศ เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ เซรามิก เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่หันมาลงทุนตั้งโรงงานเหล่านี้ในอาเซียน ทั้งยังมีนโยบายส่งเสริมความร่วมมือในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน โดยมีการกำหนดเงื่อนไขให้ใช้สินค้ากลุ่มนี้จากโรงงานของจีนด้วย” นายกลินท์กล่าว