รู้ทัน Food Safety

คอลัมน์ แตกประเด็น
โดย ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม


ในแต่ละปี ประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารไปทั่วโลก มีมูลค่าสูงนับล้านล้านบาท มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะ “ครัวของโลก” ทั้งมีแนวโน้มว่าอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2561 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560 ราว 7% มีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 1.07 ล้านล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน สัดส่วนส่งออกประมาณ 30% ญี่ปุ่น 14% สหรัฐ 10% จีนและแอฟริกา สัดส่วนเท่ากันที่ 9%

พูดได้เต็มปากว่า มาตรฐานการผลิตสินค้าอาหารจากไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล ทั้งในด้านคุณภาพและความปลอดภัย ถึงกระนั้นก็ยังมีข่าวคราวอยู่เป็นระยะ กรณีสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยอันดับต้น ๆ สั่งกักสินค้าอาหารบางรายการจากไทย อ้างตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย Salmonella พบยาฆ่าแมลงตกค้าง หรือสารตะกั่วตกค้าง แปลว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ยังไม่นับกรณีคล้าย ๆ กันที่เกิดกับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ

หลังจากสหรัฐประกาศใช้กฎหมาย Food Safety Modernization Act (FSMA) ไปเมื่อเดือน พ.ค. 2559 ผู้ผลิตอาหารส่งออกรายใหญ่ต้องเร่งปรับตัว จัดทำ Food Safety Plan ตามระเบียบ Preventive Controls for Human Food ซึ่งมีความเข้มข้นมากกว่า HACCP เดิมในหลายประเด็น ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กยังไม่ตื่นตัวมากนัก

ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่ต้องการส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกา จะถูกบังคับตามระเบียบใหม่ให้ดำเนินการตั้งแต่ ก.ย. 2559 ในขณะที่ผู้ประกอบการโรงงานขนาดเล็กกำหนดให้ดำเนินการภายใน ก.ย. 2560 แต่จนถึงขณะนี้ ผู้ประกอบการ SMEs หลายรายยังไม่ทราบระเบียบใหม่นี้เพราะลำพังเพียง GMP และ HACCP นั้นไม่เพียงพอเสียแล้ว หากต้องการส่งสินค้าอาหารไปขายในสหรัฐอเมริกา

มาตรฐานการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยที่จะบริโภค กลายเป็นข้อกำหนดพื้นฐานสำหรับผู้ผลิต ปัจจุบันมีระบบคุณภาพมากมาย ได้แก่ GMP, HACCP, BRC, IFS, SQF, ISO 9000, ISO 22000 เป็นต้น แต่มาตรฐานการนำเข้าของประเทศคู่ค้าอาจมีข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละประเทศปลีกย่อยไปอีก โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ food safety ซึ่งมักมีการเพิ่มเติม หรือปรับปรุงอยู่เสมอ

ที่น่าห่วงคือ ผู้ประกอบการ SMEs โรงงานอุตสาหกรรมอาหารของไทย ที่มีจำนวนสัดส่วนมากถึง 93% หรือประมาณ 7,440 ราย (ที่เหลืออีกราว 7% หรือราว 560 ราย เป็นโรงงานขนาดใหญ่) ยังไม่นับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรมโรงงานฯ รวมแล้วอีกนับแสนราย ซึ่งยังไม่มีความพร้อมทั้งบุคลากร เงินทุน เทคโนโลยีการผลิต และองค์ความรู้ต่าง ๆ รวมทั้งขาดการปรับตัวที่รวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลง

สำหรับโรงงานขนาดใหญ่อาจแก้ปัญหาเรื่อง food safety ด้วยการใช้เทคโนโลยีการผลิตอาหารในอนาคต โดยใช้เครื่องจักร หรือหุ่นยนต์ เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการปนเปื้อนในระหว่างการผลิต ลดปัญหาการควบคุมคุณภาพ และสามารถติดตั้งตรวจสอบย้อนกลับได้ง่ายขึ้น แต่สำหรับ SMEs ไม่น่าจะเป็นเรื่องง่ายนัก

การเตรียมตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านอาหารของประเทศคู่ค้า เพื่อรับมือกับการสร้างความปลอดภัยอาหารในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความรู้แจ้งในข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ด้านมาตรฐานการผลิตต่าง ๆ กฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนดหรือกติกาใหม่ ๆ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จึงเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ผู้ประกอบการ SMEs ไม่ควรละเลย ที่สำคัญ ต้องเปิดใจรับเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ ให้ทันยุคทันสมัย แม้เพียงนำมาประยุกต์ใช้บางส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่อง food safety ตามความเหมาะสมของศักยภาพตนเอง ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี


ทั้งหมดทั้งมวลนั้น มีหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งที่คอยอัพเดตข้อมูล และให้คำปรึกษาทั้งด้านเงินทุน และเทคโนโลยีการผลิตต่าง ๆ สามารถเลือกใช้บริการได้ตามสะดวกครับ