1 ปี GDP-SMEs เริ่มขยับ ดันหมื่นล้านอุ้มรายย่อยปีหน้า

ความหวังของรัฐบาลที่วางเป้าหมาย และพยายามเข้าไปช่วยเหลือระบบเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งนั้น ตลอด 1 ปี การออกมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ทั้งในรูปการเงิน และความช่วยเหลือด้านการส่งเสริมพัฒนาที่ “นายอุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระดมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จนในที่สุดวันนี้ 4 กองทุน4 โครงการ เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา

1 ปี GDP SMEs เริ่มขยับ

ปี 2560 กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับหน้าที่ให้เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบาย มาตรการ โครงการ รวมถึงบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั้งประเทศให้ผ่านวิกฤตและผลักดันไปสู่ตลาดโลกให้ได้ โดยการดึงกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Bank) มาร่วมกันบริหารโครงการ 4 กองทุน วงเงินรวม 38,000 ล้านบาท วันนี้ปล่อยกู้ไปได้ประมาณ 17,000 กว่าล้านบาท

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยอมรับว่า มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ลงไปส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของ SMEs หรือ GDP-SMEs เริ่มขยับจาก 42% มูลค่า 5.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 43% แม้จะยังไม่มาก แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีและสะท้อนถึงความสำเร็จ โดยมีเป้าหมาย 50% มูลค่าถึง 8 ล้านล้านบาท ภายในปี 2563

อุ้ม Micro SMEs ปี”61

ขณะเดียวกันในปี 2561 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นแม่งานหลักได้พยายามหามาตรการผลักดันอีกแนวทางหนึ่ง นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดี กสอ. กล่าวว่า ในส่วนกลยุทธ์ที่จะนำมาใช้ส่งเสริมและพัฒนาSMEs ไปสู่ 4.0 เป้าหมายคือการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม หรือ clusterซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญในการต่อยอดของ SMEs ไทยให้เข้มแข็ง ขณะที่มาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือ SMEs ในปี 2561 ยังคงใช้กองทุน 20,000 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 6,000 ล้านบาท เหลือวงเงินประมาณ 14,000 ล้านบาท

โดยจะแบ่งเป็นวงเงิน 8,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs รายจิ๋ว/รายเล็ก (Micro SMEs) ที่มีการประกอบกิจการและขึ้นทะเบียนทางการค้า โดยมีเงื่อนไขการปล่อยกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 1% ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาการกำหนดเกณฑ์และกรอบการปล่อยสินเชื่อ ส่วนวงเงินที่เหลือประมาณ 6,000 ล้านบาท จะปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ เพื่อนำไปปรับปรุงกิจการและพัฒนาธุรกิจ มีอัตราดอกเบี้ย 1% เช่นกัน

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการSMEs ที่เข้าร่วมโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จะได้รับคูปองเสริมแกร่งธุรกิจวงเงิน 30,000 บาทต่อราย เพื่อนำไปใช้บริการด้านการให้คำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ หรือใช้ในการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในเครือข่ายทั่วประเทศ

สำหรับมาตรการที่ไม่ใช่การเงิน กสอ.จะดำเนินโครงการต่าง ๆ ในการส่งเสริม SMEs วงเงินกว่า 800 ล้านบาท เป้าหมายที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการทั้ง SMEs และ OTOP จำนวนกว่า 50,000 ราย และคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินโครงการต่าง ๆ เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ สามารถสร้างผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการเดิมได้กว่า 12,000 ราย รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตอีกกว่า 4,000 กิจการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 8,000 ล้านบาท

เสริมแกร่ง 4 กองทุน 4 โครงการ

การขับเคลื่อนสภาพคล่อง SMEs ทั้งระบบจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือและกลไกหลายอย่างเข้ามาช่วย หลังจากการออกมาตรการ 4 กองทุนมาแล้ว ได้แก่ 1.กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ต้องไม่มีหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เป็นกิจการและอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง และเป็นไปตามประกาศยุทธศาสตร์จังหวัด เช่น กิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ผ่านการพัฒนาจากโครงการแล้ว เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนใหม่ บริหารดูแลโดย กสอ. และ ธพว.

2.สินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท ต้องมีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 200 ล้านบาท เป็นธุรกิจ/กิจการใหม่ startup ทั้งที่ส่งออกและเตรียมขยายลงทุนใหม่ด้านนวัตกรรมและ 4.0 บริหารดูแลโดย ธพว.

3.กองทุนฟื้นฟู SMEs วงเงิน 2,000 ล้านบาท ทั้งที่ไม่เป็นหนี้ NPL และมีหนี้ NPL แต่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ หรือเคยเป็นหนี้ NPL แต่มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน บริหารดูแลโดย สสว.

4.กองทุนพลิกฟื้น วงเงิน 1,000 ล้านบาท มีหนี้ NPL ซึ่งต้องผ่านการวิเคราะห์ตามโครงการ turn around ยังมีศักยภาพที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ ต้องผ่านการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เดิม หรือได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน บริหารดูแลโดย สสว.

ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการอีก 4 โครงการ โดยเป็นโครงการที่มุ่งพัฒนาส่งเสริม ซึ่งจะเริ่มเป็นรูปธรรมในเดือนมกราคม 2561 คือ 1.โครงการคูปองเสริมแกร่งธุรกิจ SMEs (SMEs Coupon) วงเงิน 30,000 บาทต่อราย ที่มีเป้าหมายช่วยเหลือ SMEs 10,000 ราย จากงบประมาณ 300 ล้านบาท

2.โครงการขับเคลื่อน SMEs ไทยสู่ digital value chain ที่ส่งเสริม SMEs ให้ใช้ช่องทาง e-Commerce เพื่อขยายธุรกิจสู่ตลาดโลก 3.โครงการ big brothers เป็นการนำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กว่า 20 บริษัท มาช่วยยกระดับ SMEs เตรียมความพร้อมรับความต้องการของตลาดโลก

4.โครงการ standard up เป็นการยกระดับ SMEs สู่มาตรฐานที่เหมาะสม พร้อมสร้างระบบมาตรฐานเฉพาะ (มอก. S) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและเสริมความสามารถของ SMEs และ startup โดยเริ่มจากที่ 20 สินค้า จาก SMEs เฉพาะในกิจการด้านบริการสปา อาทิ มาตรฐานแชมพูสำหรับสปา มาตรฐานผ้าปูที่นอนสำหรับสปา รวมถึงสินค้าที่เป็นเครื่องใช้ สิ่งทอ ดอกไม้ประดิษฐ์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว