พาณิชย์ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการ 1 ประชารัฐ 1 ภูมิภาค

พาณิชย์ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการ 1 ประชารัฐ 1 ภูมิภาค ผนึกกำลังร่วมกับหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ต่อยอดด้านการตลาด ให้สินค้าเกษตรและสินค้าชุมชนของหมู่บ้านและชุมชนเป้าหมายทั่วประเทศ
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์และโฆษกกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 กระทรวงพาณิชย์ได้ลงนาม “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการ 1 ประชารัฐ 1 ภูมิภาค” ร่วมกับหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งการลงนามในครั้งนี้หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาเป็นเจ้าภาพในการจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานพันธมิตรตามแนวทางประชารัฐ จำนวน 7 หน่วย ณ สำนักงานหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ถนนแจ้งวัฒนะ โดยบทบาทของกระทรวงพาณิชย์ภายใต้การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ก็คือ การเชื่อมโยงและต่อยอดด้านการค้าและการตลาดให้ชุมชน/ท้องถิ่นที่มีศักยภาพในพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น
 
จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) มอบแนวทางการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ในปี 2561 ให้เน้นการทำงานแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อดูแลความกินดีอยู่ดีให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่เพื่อต่อยอดด้านการค้าและการตลาดให้ชุมชน/ท้องถิ่นสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการที่กระทรวงพาณิชย์เข้าร่วมเป็นหนึ่งในหน่วยงานพันธมิตรให้การสนับสนุน “โครงการ 1 ประชารัฐ 1 ภูมิภาค” เนื่องมาจากโครงการดังกล่าวสอดรับกับนโยบายของกระทรวงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนา ได้แก่ ชุมชน และหมู่บ้าน ก็ครอบคลุมถึงเกษตรกรและผู้ประกอบการ OTOP ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กระทรวงฯ ต้องการขยายการสนับสนุนอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น อีกทั้งรูปแบบการบูรณาการห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ผ่านความร่วมมือและเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ยังช่วยลดภาระด้านงบประมาณ และเพิ่มประสิทธิภาพในการสนับสนุนและส่งเสริมชุมชนในพื้นที่เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม
 
โฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าวเพิ่มเติมว่า บทบาทของกระทรวงพาณิชย์ภายใต้ “โครงการ 1 ประชารัฐ 1 ภูมิภาค” ก็คือ การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และสร้างอาชีพ ผ่านการจัดหาและเชื่อมโยงตลาดให้แก่สินค้าและบริการชุมชน/ท้องถิ่นในพื้นที่เป้าหมายของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา การพัฒนาและยกระดับการค้าท้องถิ่นเพื่อเชื่อมโยงกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน การสร้างอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเป้าหมาย ตลอดจนการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนให้สามารถเชื่อมโยงสู่ระบบการค้าออนไลน์ ทั้งนี้ หลังการลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวแล้ว กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานพันธมิตรจะจัดทำแผนปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม โดยสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นเจ้าภาพหลักในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกระทรวง อาทิ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ทั้งนี้ แผนปฏิบัติงานจะมีการคัดเลือกชุมชน/หมู่บ้านที่มีศักยภาพการผลิตสินค้า/บริการ และพันธมิตรที่ร่วมลงนามจะเข้าไปดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมตามภารกิจของแต่ละหน่วยงานเพื่อพัฒนา “ชุมชน/หมู่บ้านต้นแบบ” และนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นตามความเหมาะสมต่อไป
 
โครงการ 1 ประชารัฐ 1 ภูมิภาค ซึ่งริเริ่มโดยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ราษฎรและชุมชนสามารถได้รับความช่วยเหลือต่อยอดด้วยการใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผสมผสานองค์ความรู้และเทคโนโลยี โดยสนับสนุนให้ชุมชนเข้าถึงแหล่งความรู้สมัยใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเป็นที่ปรึกษา รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี การประยุกต์ใช้งานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ การพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการและการตลาด รวมทั้งเชื่อมโยงให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยมีหน่วยงานที่ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการ 1 ประชารัฐ 1 ภูมิภาค ทั้งสิ้นจำนวน 7 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง ได้แก่
 
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
 
ทั้งนี้ ผลที่คาดว่าจะได้รับก็คือ เพิ่มประสิทธิภาพของประชาชนและชุมชนในทุกภูมิภาคให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน