สถานการณ์ยางพาราช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา กำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือด ยังไม่รู้ว่าราคายางจะไปทางไหน เห็นได้จากช่วงกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ราคายางแผ่นดิบที่ซื้อขายกันในตลาดท้องถิ่นอยู่ในระดับ กก.ละ 40 บาท และเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2560 ก็ยังอยู่ในระดับ กก.ละ 41 บาท หากภาครัฐไม่เข็นมาตรการออกมาสู้ อาจได้เห็น กก.ละ 33 บาทอีกครั้งก็ได้ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอมาตรการผลักดันราคายางต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 6 มาตรการ ที่เสนอเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2560 ประกอบด้วย
(1) มาตรการให้สินเชื่อผู้ประกอบกิจการยาง วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซื้อยางได้ประมาณ 3.5 แสนตัน ซึ่งรัฐจะชดเชยดอกเบี้ยตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3% ต่อปี
(2) มาตรการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานรัฐ เป้าหมาย 2 แสนตัน ซึ่งนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมจะเสนอ ครม. ขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท ให้ กยท.นำไปซื้อน้ำยางสด ยางก้อนถ้วยจากเกษตรกรที่กำลังหารือวิธีการซื้ออยู่ประมาณ 1.8 แสนตัน คิดเป็นยางแห้งประมาณ 9 หมื่นตัน ตามวงเงินที่หน่วยงานรัฐแต่ละแห่งมีวงเงินจัดซื้อยางปี 2561 อยู่แล้ว พร้อมทั้งให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และหน่วยงานต่าง ๆ ออกทีโออาร์ในการประมูลงานว่าเอกชนผู้ชนะการประมูลต้องไปซื้อยางจาก กยท.
(3) มาตรการควบคุมปริมาณผลผลิต โดยมีเป้าหมายลดปริมาณผลผลิตทั้งจากภาคเกษตรกรและหน่วยงานรัฐ โดยในส่วนของเกษตรกรกำหนดให้มีแรงจูงใจช่วงเวลาเร่งด่วนไตรมาสแรกปี 2561 ด้วยการสนับสนุนเงินรายละ 4,000 บาท เพื่อโค่นยางและปลูกแทนด้วยไม้ยืนต้น เช่น ไม้ผล ไม้เพื่อการแปรรูปและอื่น ๆ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ จำนวน 2 แสนไร่ที่ยางออกสู่ตลาด เป็นการลดปลูกยางแบบถาวร
สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่มีสวนยางประมาณ 1 แสนไร่ จะร่วมกันหยุดกรีดยาง เพื่อลดปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดได้ไม่น้อยกว่า 6,780 ตัน ในระยะเวลาช่วงไตรมาสแรกปี 2561
(4) มาตรการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา วงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลเห็นชอบแนวทางปฏิบัติการสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ในอัตรา 0.49% ต่อปี
(5) มาตรการชดเชยดอกเบี้ย 3% เพื่อสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยรัฐจะสนับสนุนเงินชดเชยและค่าเบี้ยประกัน ค่าบริหารโครงการแก่สถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
(6) มาตรการชดเชยดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปัจจุบันมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ 29 ราย และได้รับอนุมัติสินเชื่อเข้าร่วมโครงการ 16 ราย วงเงิน 8,887 ล้านบาท ปริมาณการใช้ยางเพิ่มขึ้น 35,500 ตันต่อปี ขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอีกหลายราย ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางในประเทศเพิ่มมากขึ้น
นอกเหนือจาก 6 มาตรการแล้ว ไทยยังได้ร่วมกับ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งมีปริมาณผลผลิตยางกว่า 70% ของผลผลิตทั่วโลก ลดปริมาณการส่งออกยาง โดยที่ประชุมสภาไตรภาคียางพารา (ITRC) มีมติลดปริมาณการส่งออกยางลง 3.5 แสนตัน ตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 2560-31 มี.ค. 2561 เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคา
แยกเป็นไทยลดส่งออก 2.3 แสนตันเศษ อินโดนีเซีย 9.5 หมื่นตันเศษ และมาเลเซีย 2 หมื่นตันเศษ เพราะผลผลิตทั่วโลกมีมากกว่าความต้องการถึง 3.5 แสนตันต่อปี ซึ่ง นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า การลดการส่งออกจะผลักดันราคายางจาก กก.ละ 40 บาท ให้เพิ่มขึ้นเป็น 60 บาท/กก.
อย่างไรก็ตาม มีคำถามตามมาว่า6 มาตรการและการลดปริมาณการส่งออกจะผลักดันราคาขึ้นสู่เป้าหมาย กก.ละ 60 บาทได้จริงหรือไม่ ในเมื่อพื้นที่ปลูกยางพาราที่ผลิตในปัจจุบันเมื่อเทียบกับปี 2553 เพิ่มขึ้นถึง 11.9 ล้านไร่ เฉพาะพื้นที่ปลูกในไทยที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานในปี 2556 มีพื้นที่ปลูก 17.39 ล้านไร่ เพิ่มเป็น 19.22 ล้านไร่ ในปี 2560 แต่ตัวเลข กยท.ที่เกษตรกรทั้งในพื้นที่มีเอกสารสิทธิและไม่มีเอกสารสิทธิมาแจ้งสูงถึง 22 ล้านไร่ ในขณะที่ดาวเทียมจิสด้า ของสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) ตรวจสอบว่ามีถึง 30 ล้านไร่ กยท.จึงได้ให้จิสด้าสำรวจใหม่ เนื่องจาก กยท.ยังจำกัดสิทธิให้เกษตรกรผู้ปลูกยางในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิแจ้งได้ไม่เกินรายละ 25 ไร่
“นอกจากนี้ กลุ่ม 5 เสือผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของไทย ล้วนมีจีนที่เข้ามาร่วมทุ่นแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผยอีกมาก เช่น บริษัท ไทยก๋วงเขิ่น รับเบอร์ บริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจจีนยางรายใหญ่ เข้ามาถือหุ้นถึง 59% ในบริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) กลุ่มเต็กบี้ห้างที่มี “ซิโนเค็ม” รัฐวิสาหกิจรายใหญ่ของจีนเข้ามาฮุบ และผู้ถือหุ้นจากบริษัทจีน สิงคโปร์ เข้ามาถือหุ้นในกลุ่ม 5 เสือ แบบไม่เปิดเผยหรือนอมินีอีกมาก แน่นอนว่าการดึงราคายางขึ้นสูง ย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทแม่ในจีน” แหล่งข่าวระดับสูงใน กยท.กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”
ถึงแม้ทั่วโลกหรือไทยจะมีพื้นที่ปลูกยางมากขึ้น แต่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2554 ที่ราคายางขึ้นไปสูงเกือบ กก.ละ 200 บาท หลังจากนั้นราคาก็ตกต่ำมาตลอด ยกเว้นช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2560 ที่ราคายางพุ่งขึ้น กก.ละ 100 บาท จากภาวะน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ การกรีดยางในภาคใต้ก็ระส่ำระสาย เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกยางเกือบ 7 ล้านไร่ ที่จ้างคนกรีดยางแล้วแบ่งรายได้กัน ขณะที่ตัวเองรับราชการ เป็นพ่อค้าหรือทำอาชีพอื่น สวนยางเป็นแค่อาชีพเสริม เมื่อราคายางตกต่ำเช่นปัจจุบัน 2 สามีภรรยาที่รับจ้างกรีดจะมีรายได้รวมกันเพียงวันละ 500 บาท ต่ำกว่าค่าแรงวันละ 300 บาท/คน จึงมีการละทิ้งไปทำอาชีพอื่นค่อนข้างมาก ผลผลิตที่ออกมาจึงน้อย ไม่สัมพันธ์กับพื้นที่ปลูกที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก ในขณะที่แผนการโค่นยางเพื่อลดพื้นที่ปลูกยางปีละ 4 แสนไร่ เป็นเวลา 7 ปี จนถึงปี 2564 ที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จตามแผนทุกปี และเกษตรกรจะขอโค่นมากกว่านี้ด้วย
“มั่นใจว่า 6 มาตรการที่ออกมา และการลดปริมาณส่งออกของ3 ประเทศครั้งนี้ จะช่วยดันราคายางในเดือน ม.ค. 2561 นี้ 50 บาท/กก.ขึ้นไปแน่ เพราะคราวนี้รัฐเอาจริง สร้างเสือตัวที่ 6 มารับซื้อแข่งกับกลุ่ม 5 เสือเดิม รวมทั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ปลดล็อกการจัดซื้อยางระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”