รุกตลาด”ข้าวพรีเมี่ยม”ตั้งเป้า5แสนตัน

“ชุติมา” ถกสมาคมผู้ส่งออกข้าว หนุนรุกตลาด “ข้าวพรีเมี่ยม” หวังยกระดับราคา 25% จากปกติ ตั้งเป้าปีแรก 5 แสนตัน มั่นใจส่งออกข้าวปี”61 ได้ 10 ล้านตัน ราคามะลิทะลุ 1,000 เหรียญสหรัฐ

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนการขยายตลาดข้าวไทยในปี 2561 จะเน้นผลักดันการส่งออกข้าวพรีเมี่ยมคุณภาพสูง เพื่อยกระดับราคา โดยล่าสุดได้ประชุมร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยขอความร่วมมือให้ช่วยทำตลาด ซึ่งเป็นไปตามแผนการดำเนินการข้าวครบวงจร เบื้องต้นตั้งเป้าส่งออกประมาณ 5% จากยอดส่งออกทั้งหมดหรือประมาณ 500,000 ตัน

“หากวิเคราะห์แต่ละปีไทยส่งออกได้เฉลี่ย 10 ล้านตัน แยกเป็นข้าวหอมมะลิ 3 ล้านตัน ข้าวนึ่ง 4-5 ล้านตัน และข้าวอื่น ๆ เช่น ข้าวเหนียว ข้าวขาว เราขออย่าขายแข่งตัดราคาลงเลยมันเหนื่อย เราควรส่งเสริมการการส่งออกโดยแบ่งเซ็กเมนต์ตลาดข้าวเป็นตลาดบน ตลาดกลาง ส่วนที่ดีต้องฉีกมาทำพรีเมี่ยม ที่ผ่านมาผู้ส่งออกไม่มีการทำตลาดชัดเจน มีเพียงบางรายที่ทำ ฝรั่งเข้ามาซื้อโดยตรงกับชาวนาเราจึงต้องการส่งเสริมการทำตลาดข้าวพรีเมี่ยม ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มอย่างจริงจัง ส่วนตลาดปกติยังรักษาไว้”

สำหรับการส่งออกข้าวพรีเมี่ยม จะเน้นข้าวที่มีคุณภาพสูง มีลักษณะพิเศษ เช่น ข้าว กข.43 เป็นข้าวสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการดูแลสุขภาพ เพราะมีปริมาณน้ำตาลต่ำ มีการผลิตเพียงปีละ 20,000 ตัน หรือข้าวหอมมะลิมาตรฐาน 92% คัดเกรดหรือพรีเมี่ยมข้าวหอมมะลิ 100% ไม่ปน ซึ่งผู้ส่งออกจะสามารถกำหนดราคาส่งออกสูงกว่าข้าวทั่วไป 20-25% ต้องสร้างการรับรู้ว่าข้าวหอมมะลิพรีเมี่ยมแท้มีลักษณะอย่างไร

ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์จะหารือกับกรมศุลกากรให้หาแนวทางเก็บตัวเลขการส่งออกข้าวพรีเมี่ยมให้ชัดเจน เพราะจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าตลาดข้าวพรีเมี่ยมมีปริมาณเท่าไร ส่งไปยังตลาดใด จากนั้นจะนำคณะผู้ส่งออกไปบุกตลาด โอกาสทำตลาดเป็นไปได้สูง เพราะเคยคุยกับผู้นำเข้าข้าวจากกลุ่มอาลีบาบา ทราบว่ามีผู้ซื้อสนใจซื้อข้าวหอมมะลิของแท้ ราคาเท่าไรไม่มีปัญหา ทางเราเสนอไอเดียไปว่า ผู้ส่งออกที่เป็นเจ้าของโรงสีจำนวนมาก ช่วยดึงชาวนามาเป็นเครือข่าย หรือคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง วางระบบการปลูก และใส่เทคโนโลยีเข้าไปเพื่อลดต้นทุนการผลิต”

พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้บูรณาการงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการจัดทำข้อมูลเชิงลึกอย่างเป็นระบบ โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เช่น AI มาเก็บข้อมูลการผลิตนำไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลด้านการทำตลาด เน้นการทำงานบูรณาการมากขึ้น จากเดิมเน้นงานแก้ปัญหาราคาเกษตรเฉพาะหน้า

สำหรับการส่งออกข้าวในปี 2560 คาดว่าจะมีปริมาณสูงเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 10 ล้านตัน ถึงขณะนี้ 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) ส่งออกได้ 10.47 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน และมีมูลค่า 4,618 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% จากปีก่อน

ส่วนแนวโน้มการส่งออกข้าวในปี 2561 น่าจะมีปริมาณ 10 ล้านตัน จากความต้องการในตลาด โดยเฉพาะในส่วนของการขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) ซึ่งในปีหน้ามีแนวโน้มว่าหลายตลาด ทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อิรัก อิหร่าน น่าจะมีคำสั่งซื้อเข้ามา ส่วนความคืบหน้าของการทำสัญญาซื้อข้าวบังกลาเทศ ไทยรอบังกลาเทศมาทำสัญญาซื้อข้าวจีทูจี 150,000 ตันเร็ว ๆ นี้

“ขณะที่ราคาส่งออกเอฟ.โอ.บี.ข้าวหอมมะลิปรับขึ้นไปถึงตันละ 1,000 เหรียญสหรัฐ จากปกติเฉลี่ยตันละ 800 เหรียญสหรัฐ เป็นผลจากการผลิตข้าวหอมมะลิในปีนี้ที่ทยอยออก รัฐบาลมีการกำหนดมาตรการดูแลเสถียรภาพราคา ทั้งการเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางเกษตรกร และให้ผู้ส่งออก โรงสีซื้อข้าวสต๊อกไว้ ดูดซับซัพพลายข้าวไม่ให้ออกมามาก ประกอบกับสต๊อกข้าวสารของรัฐบาลที่เหลืออยู่ไม่มากแล้ว ส่วนใหญ่เป็นข้าวที่เหมาะสมสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม ต้องค่อย ๆ ระบายออกสู่ตลาดในช่วงที่เหมาะสมในปีหน้าเพื่อไม่ให้กระทบราคาข้าวนาปี ช่วยให้ตลาดข้าวหอมมะลิมีเสถียรภาพมากขึ้น”