หอการค้าไทยดันโคขุนดอกลำดวน-ทุเรียนภูเขาไฟบูมเศรษฐกิจท้องถิ่นศรีสะเกษ

หอการค้าไทยดันโคขุนดอกลำดวน-ทุเรียนภูเขาไฟบูมเศรษฐกิจท้องถิ่นศรีสะเกษ

สนั่น นำทีมหอการค้าไทยลงพื้นที่ ดันโคขุนดอกลำดวน-ทุเรียนภูเขาไฟบูมศก.ท้องถิ่นศรีสะเกษ รับข้อเสนอ ยืดระยะเวลา Border pass ปลดล็อกการค้าชานแดนช่องสะงำ – กัมพูชา

วันที่ 11 มิถุนายน 2565 นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้นำคณะเยี่ยมเยือนหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อหารือแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด ทั้งนี้ ยังได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นายวัฒนา  พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และ นายสฤษฎ์  นาควารินทร์ ประธานหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อประสานและเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่อีกด้วย

ในด้านการค้าชายแดน จังหวัดศรีสะเกษมีด่านช่องสะงำที่เป็นด่านการค้าชายแดนที่สำคัญ โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ คือ น้ำผลไม้ และวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพเส้นทางฝั่งกัมพูชาที่มีความลาดชัน จึงเป็นด่านที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจในการขนส่งสินค้ามากนัก แต่ทั้งนี้ สิ่งที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ คือศักยภาพด้านการท่องเที่ยว

เนื่องจากมีระยะทางห่างจากเสียมราฐเพียง 180 ก.ม. เท่านั้น โดยศรีสะเกษสามารถพัฒนาในเรื่อง Medical Tourism ซึ่งจะช่วยดึงดูดคนกัมพูชาให้เข้ามาใช้จ่ายมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน เราอาจต้องปรับปรุงกฎระเบียบบางอย่างเพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายนี้ด้วย เช่น การยืดระยะเวลา Border pass ให้มีอายุนานขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีอายุเพียง 3 วัน อาจไม่เพียงพอสำหรับการเดินทางเข้ามารักษาทางการแพทย์ในบางกรณี

นอกจากนั้น หอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ ยังต้องการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อแบบครบวงจร โดยปัจจุบันมีการเลี้ยงโคประมาณ 5 แสนตัว สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ได้มีการพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย ระบบ Logistic และนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนในกระบวนการผลิต

ทั้งนี้ หอการค้าไทยได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความร่วมมือ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อแบบครบวงจร จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างจังหวัดศรีสะเกษ หอการค้าจังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และผู้แทนภาคเกษตรกร เพื่อพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อ ภายใต้นโยบาย BCG (Bio Circular Green) เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไป

“โคขุนดอกลำดวนของศรีสะเกษนั้น ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกมาก และจะเป็นการสร้างรายได้ที่ดี ความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ เกษตรกรจะได้รับประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะองค์ความรู้ แนวทางในการบริหารจัดการ ตลอดจนนวัตกรรมต่าง ๆ ที่นำมาใช้ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถขยายผลและยกระดับรายได้อีกมากมายในอนาคต” นายสนั่น กล่าว

ทั้งนี้ การนำแนวคิด BCG มาใช้ในกระบวนการการเลี้ยงโคเนื้อนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก  โดยการจัดการมูลวัวนั้น นอกจากจะนำมาเป็นปุ๋ยแล้ว ยังสามารถนำมาผลิตเป็นไบโอแก๊ส เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นกระบวนการที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่สร้างความยั่งยืนด้านปศุสัตว์ให้แก่จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียงต่อไป


นอกจากนั้น หอการค้าไทยยังได้นำคณะเข้าเยี่ยมชมสวนทุเรียนภูเขาไฟ ซึ่งเป็นของขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เป็นที่ต้องการของตลาด และยังมีอัตราการเติบโตที่ดี หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน