“ไทย-นิวซีแลนด์” ลงนามแก้ไข FTA กระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

ไทย-นิวซีแลนด์ ร่วมลงนามพิธีสารแก้ไข FTA ไทย-นิวซีแลนด์ พร้อมกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ณ กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมลงนามพิธีสารเพื่อแก้ไขภาคผนวก 3 ของความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ไทย – นิวซีแลนด์ (Protocol to Amend Annex 3 of Thailand – New Zealand Closer Economic Partnership Agreement : TNZCEP) ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของนิวซีแลนด์ (Honorable Todd McClay)

ทั้งนี้ พิธีสารดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นการปรับเพิ่มปริมาณเพดานการนำเข้าสินค้า (Trigger Volume) ที่มีการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard: SSG) สำหรับผลิตภัณฑ์นม 3 รายการ ได้แก่ (1) หางนม (Whey) (2) ไขมันเนย (AMF) และ (3) เนยแข็ง (Cheese) ภายใต้ความตกลง TNZCEP โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2560 และปรับเพิ่มขึ้นทุกๆ ปีจนถึงปี 2563 ทั้งนี้ การปรับเพิ่มปริมาณ Trigger Volume ดังกล่าว เป็นเรื่องของการดำเนินการตามพันธกรณีของไทยตามความตกลง TNZCEP เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าและความต้องการนำเข้าสินค้าดังกล่าวของประเทศ

นางอภิรดี กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด โดยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดทำประชาพิจารณ์ทางสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์รวมทั้งจัดสัมมนาประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยเชิญผู้มีส่วนได้เสียจากการเปิดตลาดผลิตภัณฑ์นมเข้าร่วมงาน ได้แก่ เกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโคนมรวมถึงภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าการเปิดตลาดผลิตภัณฑ์นมโดยการปรับเพิ่มปริมาณนำเข้าสินค้า 3 รายการข้างต้นในครั้งนี้ ไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมโคนมในประเทศ

จากสถิติการค้า ไทยมีการนำเข้าจริงสูงกว่าปริมาณเพดานการนำเข้าที่กำหนดไว้ (Trigger Volume) ภายใต้มาตรการปกป้องพิเศษอยู่มาก โดยในปี 2559 หางนม ไขมันเนย และเนยแข็งสด มีการกำหนดระดับ Trigger Volume อยู่ที่ 42.91 ตัน 17.10 ตัน และ 370.10 ตัน ในขณะที่ไทยนำเข้าจากนิวซีแลนด์ 2,349.05 ตัน 6,692.60 ตัน และ 732.93 ตัน ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงปริมาณความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ และการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้นการปรับเพิ่ม Trigger Volume จะช่วยลดต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและราคาสินค้าในท้องตลาด และยังเป็นการช่วยให้อุตสาหกรรมโคนมและภาคการผลิตภายในประเทศได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเสรีในอีก 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากมาตรการปกป้องพิเศษภายใต้ความตกลง TNZCEP จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 อัตราภาษีนำเข้าจะเป็นร้อยละ 0 และไม่มีการกำหนดเพดานปริมาณการนำเข้าอีกต่อไป

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยังได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของนิวซีแลนด์ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่านับตั้งแต่มีการจัดทำความตกลง TNZCEP การค้าระหว่างกันมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จากปี 2548 ที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ มูลค่าการค้าอยู่ที่ 774 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว เป็น 2,022 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2559 และยังใช้โอกาสนี้หารือเกี่ยวกับการเจรจาเปิดตลาดการค้าบริการภายใต้ความตกลง TNZCEP เนื่องจากปัจจุบันความตกลงฯ มีการเปิดเสรีเฉพาะด้านการค้าสินค้าและการลงทุน รวมทั้งหารือเกี่ยวกับโครงการที่นิวซีแลนด์จะให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมไทย โดยเฉพาะด้านบริหารจัดการฟาร์มสำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ และการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์นม ซึ่งนิวซีแลนด์ได้เสนอที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวให้กับกรมปศุสัตว์และเกษตรกรรุ่นใหม่ของไทยในเดือนสิงหาคม 2560 ที่ประเทศนิวซีแลนด์

ทั้งนี้ การเดินทางมายังประเทศไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้านิวซีแลนด์ในครั้งนี้ นับเป็นผู้แทนระดับรัฐมนตรีคนแรกของรัฐบาลนิวซีแลนด์ที่มาเยือนประเทศไทย ตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้นด้วย

นิวซีแลนด์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 32 ของไทย ในปี 2559 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 2,007.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 0.49 ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของไทย) โดยไทยส่งออกไปนิวซีแลนด์ 1,415.88 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 330.92 และไทยนำเข้าจากนิวซีแลนด์ 591.28 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 148 ซึ่งไทยได้ดุลการค้ามูลค่า 824.6 ล้านเหรียญสหรัฐ