
ต้นทุน “วัตถุดิบ-ค่าขนส่ง” พุ่งไม่หยุด ผู้ผลิตขอปรับสูตร-ตั้งราคาใหม่ กรมการค้าภายในจับตาสินค้า 3 กลุ่มเสี่ยง “อาหารและเครื่องดื่ม-ก่อสร้าง-วัสดุการเกษตร” พร้อมเปิดเกณฑ์อนุญาตปรับสูตร-เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้ง “จุรินทร์” ย้ำตรึงราคา แต่ต้องไม่ขาดแคลน เริ่มเห็น “ปลากระป๋อง-น้ำมันปาล์ม” เกลี้ยงเชลฟ์
สถานการณ์วิกฤตราคาสินค้ายังคงรุนแรงต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 จากปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นกระทบค่าขนส่ง ต้นทุนค่าไฟฟ้าในการผลิต รวมถึงราคา “วัตถุดิบ” นำเข้าต่างปรับตัวสูงขึ้น กลายเป็นภาระหนักหน่วงของบรรดาผู้ผลิตสินค้าทั้งหลายทำให้ต้องยื่นขอปรับราคาสินค้าต่อกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ด่านสุดท้ายที่จะกำกับดูแลราคา
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เปิดภาพ 3 รัฐมนตรีเกษตรฯ ต้อนรับนายกฯ เยี่ยมวิถีชาวบ้าน หนองบัวลําภู
โดยขณะนี้มีรายการสินค้าควบคุม 56 รายการ และขอความร่วมมือตรึงราคา และไม่อนุญาตให้ขึ้นราคา 18 กลุ่ม ได่แก่ 1.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2.หมวดอาหารสด 3.อาหารกระป๋อง 4.ข้าวสารถุง 5.ซอสปรุงรส 6.น้ำมันพืช 7.น้ำอัดลม 8.นมและผลิตภัณฑ์จากนม 9.เครื่องใช้ไฟฟ้า 10.ผลิตภัณฑ์ซักล้าง 11.ปุ๋ย 12.ยาฆ่าแมลง 13.อาหารสัตว์ 14.เหล็ก 15.ปูนซีเมนต์ 16.กระดาษ 17.ยา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ 18.บริการผ่านห้าง ค้าปลีก-ส่ง
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานผลการสำรวจการจำหน่ายสินค้าในห้างค้าปลีกในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า สินค้า 18 กลุ่มที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือในการตรึงราคา พบมีสินค้าบางรายการขาดหายไปจากชั้นวาง และมีการปิดป้ายจำกัดปริมาณการซื้อ เช่น ปลากระป๋องตราสามแม่ครัว ไม่มีสินค้าในห้างบางแห่งมา 1-2 เดือนแล้ว, น้ำมันปาล์มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตร ไม่มีการจำหน่าย อีกทั้งยังติดป้ายจำกัดปริมาณการซื้อ ไม่เกิน 3 ขวด แต่มีขนาดขวดเล็ก และขวดใหญ่กว่า 1 ลิตร และแบบบรรจุถุง โดยระบุว่าน้ำมันปาล์ม/น้ำมันเมล็ดในปาล์มขาดสต๊อกชั่วคราว จึงจำหน่ายโดยจำกัดปริมาณ
เช่นเดียวกับน้ำมันถั่วเหลืองที่บางห้างมีจำหน่ายเพียงยี่ห้อเดียว คือ มรกต จากสาเหตุสต๊อกขาดชั่วคราว และมีการจำกัดจำนวนการขายขนาด 1 ลิตร ไม่เกิน 12 หน่วยบรรจุ และ 13.75 ลิตร ไม่เกิน 3 หน่วยบรรจุ หรือแบบขวด 1 ลิตรบรรจุลัง ไม่เกิน 3 ลังต่อคน เป็นต้น
ป้องกันสินค้าขาดแคลน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะใช้นโยบาย “วิน-วินโมเดล” ดูแลราคาสินค้าเพื่อสร้างสมดุลให้ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยที่ผ่านมาขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้า 18 กลุ่มสินค้า จนถึงขณะนี้ตรึงราคาไว้ได้หลายหมวด
และพบว่าในเดือน พ.ค. มีบางรายการปรับลดราคาลงมา เช่น ข้าวหอมมะลิบรรจุถุงลดลง 22% ข้าวขาว 100% บรรจุถุง 5 กิโลกรัม ลด 28% ปลาทูน่ากระป๋อง ลด 2% ซอสหอยนางรม ลด 6% ซีอิ๊วดำลด 10% น้ำปลาลด 20% และรายการที่เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ปรับลดลง 5% เช่นกันกับค่าบริการขนส่งในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไม่ได้มีการปรับขึ้นราคา เพราะกระทรวงพาณิชย์สั่งการให้ตรึงค่าขนส่งไว้
“ถ้าต้นทุนสูงขึ้นไปจริงก็จะพยายามดูให้เกิดความสมดุล ระหว่างการตรึงราคาให้นานที่สุด และอย่าให้ของขาด ถ้าผู้ผลิตขาดทุนมากก็จะเลิกผลิตจึงขอความร่วมมือในการตรึงราคา นอกจากไม่ไหวให้ปรับขึ้นน้อยที่สุด แต่ในภาพรวมขณะนี้ยังไม่มีการอนุญาตให้ปรับขึ้น”
ด้านร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนการดำเนินงานในการดูแลราคาสินค้าตามสูตรวิน-วินโมเดล จะมอนิเตอร์ทั้ง “ราคา และปริมาณ” หลังขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าแล้วก็จะมีการพูดคุยกับผู้ผลิตเพื่อประเมินสถานการณ์ความพร้อมในการผลิตสินค้าว่าใช้กำลังการผลิต 100% หรือไม่ ทั้งประสานกับผู้จำหน่ายเพื่อติดตามดูปริมาณการจำหน่ายป้องกันไม่ให้สินค้าขาดตลาด
หากผู้บริโภคเดินห้างแล้วไม่พบสินค้ารายการใด สามารถแจ้งมายังสายด่วน 1569 จะรับข้อมูลเพื่อติดตามเรื่องให้ เช่น กรณีสินค้าขาดสต๊อกหายไปจากชั้นวาง ก็จะประสานไปที่ผู้ผลิตว่าประสบปัญหาอย่างไร เพื่อให้นำสินค้าส่งถึงมือผู้บริโภค เช่น กรณีปลากระป๋องสามแม่ครัว จะลงไปตรวจสอบว่ามีการผลิตเต็ม 100% หรือไม่
“การขอความร่วมมือในการตรึงราคาไม่มีกรอบเวลาว่าจะนานเท่าไร ต้องประเมินตามสถานการณ์เป็นรายเคส บางกรณีกรมจะเข้าไปช่วยเหลือเรื่องวัตถุดิบ เช่น ปุ๋ย และอาหารสัตว์ เข้าไปช่วยเชื่อมโยงแหล่งผลิต นำเข้าวัตถุดิบ”
3 กลุ่มสินค้าเดือดร้อนหนัก
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีผู้ผลิตสินค้า 3 กลุ่มหลักขอปรับราคา ได้แก่ กลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งมีสินค้าหลายรายการยื่นขอปรับราคา เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ได้รับผลกระทบจากการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า และต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าปรับสูงขึ้นไปมาก ส่วนปลากระป๋องมีการยื่นขอปรับราคามาแต่ละรายอัตราไม่เท่ากัน เพราะราคาจำหน่ายไม่เท่ากัน
ส่วนกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็กเส้น ปูนซีเมนต์ เป็นสินค้าควบคุมที่ผู้ผลิต/ผู้ว่าจ้างผลิต/ผู้นำเข้า/ผู้แทนจำหน่าย ต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนปรับราคา ซึ่งในภาพรวมมีการปรับราคาตามต้นทุน เพราะพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าที่มีระดับราคาสูงขึ้นตามตลาดโลก แต่ไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากนัก และไม่ใช่ว่าสินค้าทุกชนิดในหมวดนั้นจะขอปรับราคามาทั้งหมด และช่วงนี้ยังไม่มีการแจ้งปรับราคามา
ขณะที่กลุ่มสินค้าวัสดุทางการเกษตร หลัก ๆ คือ ปุ๋ยที่พึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า 100% ปัญหาของกลุ่มนี้แตกต่างไปจากสินค้าหมวดอื่น ดังนั้นแนวทางการพิจารณาจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป เมื่อต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้น แต่ละรายกระทบไม่เท่ากัน “การปรับต้องสอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบ” เพราะหากไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นราคาก็อาจทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตได้ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทำให้ขาดแคลนปุ๋ยที่จะใช้ในการเกษตร ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่
เปลี่ยนสูตร “ตั้งราคาสินค้าใหม่”
ร้อยตรีจักรากล่าวอีกว่า ในอีกด้านกรณีที่ผู้ผลิตมีการยื่นขอตั้งราคาสินค้าใหม่ เนื่องมาจากการปรับสูตรส่วนผสมและเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งใหม่ ถือ “เป็นสิ่งที่ทำได้” แต่ต้องพิจารณาโครงสร้างราคาคู่ขนานไปด้วย เช่น หากแจ้งมาว่าจะตั้งราคาใหม่สำหรับสินค้าชนิดหนึ่ง ทางกรมจะไปดูว่าสินค้าใหม่มีโครงสร้างราคาอย่างไร เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนหรือไม่ หากวิเคราะห์แล้วก็จะแจ้งราคาสินค้าใหม่ เช่น มีการแนะนำว่าควรจำหน่ายราคา 10 บาท หากผู้ผลิตไม่ปฏิบัติตาม ยังจำหน่าย 15 บาท จะเข้าข่ายกระทำผิดตามมาตรา 29 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ที่กำหนดเรื่องการจำหน่ายในราคาที่สูงเกินสมควร เป็นต้น
“4-5 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการยื่นตั้งราคาใหม่มาพอสมควร เป็นหลักสิบไม่ได้ถึง 100 รายการ ถือว่าปกติ การตั้งราคาเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ผิดแต่หากจำหน่ายในราคาสูงเกินสมควรจึงจะมีความผิด”
6 เดือน ยอดร้อง 1569 ลดลง
ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องราคาสินค้าเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคโทรศัพท์ร้องเรียนมาที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 โดยระหว่างเดือน ม.ค.-16 มิ.ย. 2565 รวม 1,521 เรื่อง ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 4,200 เรื่อง ประเด็นหลักที่ร้องเรียนคือ ปัญหาไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า 888 เรื่อง ส่วนการร้องเรียนว่าสินค้าแพง มี 201 เรื่อง เรื่องการปรับราคาจำหน่ายสูงขึ้น 74 เรื่อง และการกักตุนสินค้า 74 เรื่อง เป็นต้น