เหมืองแร่โพแทชอุดร ยังไร้ประทานบัตร หนังสือคัดค้านให้ “คณะกรรมการแร่” พิจารณา

เหมืองแร่โพแทชอุดร

กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมส่ง “เหมืองแร่โพแทชอุดร” เข้า ครม. เพื่อรับทราบตามกระบวนการพิจารณาเร็วสุด ก.ค. 65 นี้ ยันยังไม่อนุญาตประทานบัตรตามที่ “กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี” กังวล หลังยื่นหนังสือคัดค้านถึงผู้ว่าอุดรฯ ขู่เดินหน้ายื่นถึง “บิ๊กตู่-สุริยะ” เผยการคัดค้านให้ “คณะกรรมการแร่” ใช้ประกอบการพิจารณา

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 รายงานข่าวระบุว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้ยื่นหนังสือร้องคัดค้านการออกประทานบัตรเหมืองแร่โพแทชของ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งแร่โพแทชขนาดใหญ่และมีคุณภาพดีที่สุดในโลก ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี โดยมีนายเจษฎา ปานะถึก ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุดรธานี เป็นผู้รับเรื่องแทน เนื่องจากมีความกังว่า รัฐบาลมีนโยบายจะผลักดันโครงการเหมืองโพแทชอุดรธานีอีกครั้ง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาปุ๋ยแพง

ขณะเดียวกัน เตรียมเดินหน้ายื่นหนังสือร้องคัดค้านพร้อมด้วยสำเนารายชื่อผู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่โพแทช 2,586 ราย ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

แหล่งข่าว กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งอยู่ใน ต.หน้องไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี ปริมาณการผลิต 33.67 ล้านตัน/อายุโครงการ แผนการผลิต 2,000,000 ตัน/ปี ได้ทำการยื่นประทานบัตรเรียบร้อยแล้ว แต่ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา การสอบถามความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ทส.) ก่อนนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม). ก่อนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป

ดังนั้นแล้ว กรณีของบริษัท เอเซีย แปซิฟิคฯ จึงยังไม่ได้อนุญาตประทานบัตร และล่าสุดสถานะตอนนี้ได้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ขั้นตอนขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ทำเรื่องไปยัง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อยู่ระหว่างการบรรจุระเบียบวาระเข้าสู่การประชุม ครม. ภายในเดือน ก.ค. หรือช่วงเดือน ส.ค. 2565

“เราได้รับหนังสือคัดค้าน แล้วเราก็จะชี้แจงไป เรายังคงทำตามขั้นตอน ถามว่าหนังสือคัดค้านมาถึงเราแล้ว  ต้องเบรกเรื่องเข้า ครม. หรือไม่นั้น มันไม่เกี่ยวกันเพราะเรื่องเข้า ครม. เป็นเรื่องเพื่อรับทราบ จากนั้นถึงจะเดินเรื่องต่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแร่ เพื่อให้ความเห็นชอบ ส่วนเรื่องการคัดค้านจะต้องรายงานให้คณะกรรมการแร่พิจารณาประกอบด้วย”

ทั้งนี้ แร่โพแทสเมื่อมาสกัดจะได้โพแทสเซียมคลอไรด์ เป็นส่วนผสมสำคัญในการผลิตปุ๋ยเคมี (N P K) หรือปุ๋ยโพแทสเซียม ดังนั้นการนำทรัพยากรขึ้นมาใช้ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพยุงเศรษฐกิจ และลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงมากในขณะนี้ และเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว

รายงานข่าวยังระบุเพิ่มเติมว่า กลุ่มสิ่งแวดล้อมอุดรธานี มีความจำเป็นที่ต้องออกมายืนหนังสือคัดค้านครั้งนี้ เพราะกระบวนการที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนผู้ลงทุน ไม่สามารถตอบเรื่องผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น จะมีวิธีการแก้ไขอย่างไรให้เป็นรูปธรรม และกระบวนการการมีส่วนร่วมไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในพื้นที่ได้ ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 กลุ่มอนุรักษ์จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เรื่องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด