ธ.ค.60 อนุญาตต่างชาติลงทุนในไทยอีก 8 ราย สรุปทั้งปีจำนวนต่ำกว่าปี’59

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมาได้อนุญาตให้คนต่างด้าว 8 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเดนมาร์ก ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 200 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 102 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 2 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 19 ล้านบาท ได้แก่ บริการทางบัญชี บริการให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานและอาคารโรงงานบางส่วนพร้อมสาธารณูปโภค โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย

2.ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 1 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 3 ล้านบาท ได้แก่ บริการบริหารจัดการข้อมูลระบบการเรียกชำระค่าบริการของสมาชิก โดยใช้ซอฟต์แวร์เพื่อการบริหารจัดการข้อมูล โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์

3.ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาคเอกชน จำนวน 1 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 42 ล้านบาท ได้แก่ บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้ง และทดสอบเครื่องจักรและอุปกรณ์และระบบการทำงานต่างๆ สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น

4.ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 4 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 136 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกเครื่องวิเคราะห์สารอาหารและคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว การค้าส่งเครื่องสุขภัณฑ์ กระเบื้องพื้นและกระเบื้องผนังและชุดห้องน้ำกึ่งสำเร็จรูป การค้าส่งสินค้าประเภทโคมไฟและหลอดไฟ การค้าส่งเศษหรือของเสียประเภทโลหะที่เหลือจากกระบวนการผลิต (Scrap) โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ เดนมาร์ก และออสเตรีย

นางกุลณีกล่าวต่อว่า การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้ จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายการกำจัดกากอุตสาหกรรมและการค้าของเก่า องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการคุณภาพและเทคนิคการลดต้นทุนการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานระบบซอฟต์แวร์เพื่อการบริหารจัดการข้อมูลการเรียกชำระเงิน องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบทางวิศวกรรมของโครงการ สำหรับโรงผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมที่ไม่อันตราย รวมทั้งวิทยาการเฉพาะด้านเกี่ยวกับการใช้งานโปรแกรมออนไลน์เพื่อวิเคราะห์ปริมาณสารอินทรีย์หรือโมเลกุลด้วยคลื่นแสงในย่านใกล้อินฟราเรด (Near-infrared spectroscopy: NIRS) ในขั้นตอนการผลิตน้ำตาล

ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคม 2560 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2560 จำนวน 6 ราย คิดเป็น 42% เงินลงทุนลดลง 225 ล้านบาท คิดเป็น 52% เนื่องจากในเดือนพฤศจิกายนมีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง คือ บริการให้กู้ยืมเงิน และบริการออกแบบทางวิศวกรรม จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตโพลีออลส์ จึงทำให้ทั้งปี 2560 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาตจำนวน 270 ราย เงินลงทุนรวม 7,302 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากในปี 2559 ที่มีคนต่างด้าวได้รับอนุญาตรวม 352 ราย และมีเงินลงทุนรวม 7,443 ล้านบาท

 

ที่มา : มติชนออนไลน์