ไทยเล็งเสนอปรับบัญชี CITES จระเข้น้ำจืด จาก 1 เป็นบัญชี 2 เปิดทางส่งออก

เลี้ยงจระเข้
ภาพ มติชนออนไลน์

ไทยเตรียมเสนอ “ปรับบัญชี CITES จระเข้น้ำจืดของไทย จากบัญชี 1 เป็นบัญชี 2” ต่อที่ประชุม CITES CoP19 หลัง ครม.ไฟเขียว เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการการค้าจระเข้ไทย ผงาดในตลาดโลก ลดกีดกันทางการค้าส่งออก EU-USA

วันที่ 24 มิถุนายน 2565 นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 อนุมัติในหลักการตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง “ข้อเสนอปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดของไทย (Crocodylus siamensis) จากบัญชี 1 เป็นบัญชี 2 ภายใต้อนุสัญญา CITES” ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะได้ดำเนินการเสนอต่อที่ประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 19 (CITES CoP19) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-22 พฤศจิกายน 2565 ณ สาธารณรัฐปานามา

บัญชา สุขแก้ว
บัญชา สุขแก้ว

สำหรับข้อเสนอปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) นั้น เนื่องจากจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ ตามกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ พ.ศ. 2546 และเป็นชนิดที่อยู่ในบัญชี 1 (Appendix I) ตามบัญชีท้ายอนุสัญญา CITES ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงจระเข้น้ำจืดทั่วประเทศ

โดยมีผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ค้า ครอบครอง และเพาะพันธุ์ที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จำนวน 1,415 ราย มีจำนวนรวม 1,263,360 ตัว (ข้อมูลปี พ.ศ. 2564) การค้าระหว่างประเทศของจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในบัญชี 1 ที่มีข้อกำหนดในการส่งออกจะต้องขอนุญาตจาก CITES

แต่หากปรับลดชนิดพันธุ์มาอยู่ในบัญชี 2 (Appendix II) ผู้ที่ขึ้นทะเบียนไว้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้เลย ซึ่งจะช่วยทำให้การค้าระหว่างประเทศเกิดความสะดวกมากยิ่งขึ้น
​โดยการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยในฟาร์ม ประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงมายาวนานกว่า 20 ปี และมีการขึ้นทะเบียนฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้เพื่อการค้าระหว่างประเทศส่งผลทำให้เกิดธุรกิจการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์จระเข้ ทั้งฟาร์มขนาดเล็กและฟาร์มขนาดใหญ่ทั่วประเทศ

รวมทั้งมีธุรกิจต่อเนื่อง ในการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย ได้แก่ การซื้อ-ขายจระเข้มีชีวิต เนื้อจระเข้ ไข่จระเข้ และหนังจระเข้ในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ และธุรกิจเกี่ยวข้อง

เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว กิจการสวนสัตว์เอกชน มูลค่าการส่งออกจระเข้ของไทยในปี พ.ศ. 2561-2562 (ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) มีมูลค่ามากกว่า 7,000 ล้านบาท

​ทั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พยายามผลักดันข้อเสนอเร่งด่วนของกรมประมงเพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบในการปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดของไทย (Crocodylus siamensis) จากบัญชี 1 เป็นบัญชี 2 ภายใต้อนุสัญญา CITES” ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

และหากประเทศไทยสามารถดำเนินการขอปรับลดสถานะจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยในการประชุม CITES CoP19 ได้สำเร็จ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเป็นผลในเชิงบวกต่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยในตลาดโลก และยังลดการกีดกันทางการค้ากับกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังสามารถใช้โอกาสนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย

นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังได้ส่งเสริมและสนับสนุนการเพาะเลี้ยงจระเข้ให้เติบโตยิ่งขึ้น โดยเสนอ ครม.อนุมัติงบประมาณกว่า 1,800 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้เพาะเลี้ยงจระเข้และผู้ประกอบธุรกิจต่อเนื่อง ภายใต้โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง อีกทั้งยังเน้นย้ำให้กรมประมงหาแนวทางการส่งเสริมตลาดการค้าจระเข้ไทยให้เป็นที่เชี่อมั่นของตลาดโลก เป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้า การขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ และนำไปสู่การพัฒนาอาชีพของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ ก่อให้เกิดธุรกิจที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย