เกษตรฯตั้งศูนย์จัดการผลไม้ภาคใต้ ปรับกลยุทธ์รับมือผลผลิตทะลัก 5 แสนตัน

เกษตรฯ ตั้งศูนย์จัดการผลไม้ภาคใต้ ปรับกลยุทธ์รับมือผลผลิตทะลัก 5 แสนตัน

“เฉลิมชัย” ส่ง อลงกรณ์ นำทีมฟรุ้ตบอร์ดลงใต้ เร่งขับเคลื่อน 18 มาตรการบริหารผลไม้ 5 แสนตัน ป้องกันผลผลิตล้นตลาด พร้อมปรับกลยุทธ์ใหม่ ตั้งศูนย์บริหารจัดการผลไม้ส่วนหน้า

วันที่ 26 มิถุนายน 2565 รายงานข่าวระบุนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) มอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบและคณะลงพื้นที่ติดตามงานด้านการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ 14 จังหวัด

โดยมีการประชุมเฉพาะกิจติดตามสถานการณ์ต้นฤดูล่าสุด และความพร้อมของ 18 มาตรการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ปี 2565 โดยได้รายงานสถานการณ์การผลิต-การขนส่ง และปัญหาอุปสรรคของผลไม้ภาคใต้ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกองปี 2565 ซึ่งมี ประธานคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

จากข้อมูลการรายงาน ผลผลิตทุเรียนภาคใต้ ปี 65 มีปริมาณ 465,959 ตัน ลดลง 19.19 % (จากปี 64 มีปริมาณผลผลิต 576,594 ตัน )มังคุดภาคใต้ ปี 65 มีปริมาณ 59,659 ตัน ลดลง 63.28 % (จากปี 64 ปริมาณ 162,477 ตัน) เงาะภาคใต้ ปี 65 มีปริมาณ 41,858 ตัน ลดลง 36.47 % (จากปี 64 ปริมาณ 65,882 ตัน ) และลองกองภาคใต้ ปี 65 มีปริมาณ 6,550 ตัน ลดลง 81.90 % (จากปี 64 ปริมาณ 36,181 ตัน) (2) รายงานผลการบูรณาการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกองปี 2565 โดย สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ภาพรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิดได้เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และจะออกต่อเนื่องจนถึงเดือนธันวาคม 2565 โดยผลผลิตจะออกมากสุดช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2565 ซึ่งขณะนี้ ทุเรียน มังคุด เงาะ ส่วนใหญ่อยู่ระยะการเจริญเติบโตอยู่ในช่วงผลเล็ก โดยทุเรียน ออกดอกแล้ว ร้อยละ 64 เกษตรกรเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป

เกษตรฯ ตั้งศูนย์จัดการผลไม้ภาคใต้ ปรับกลยุทธ์รับมือผลผลิตทะลัก 5 แสนตัน
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ

ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 มังคุด ออกดอกแล้ว ร้อยละ 30 เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกช่วงปลายเดือนเมษายน 2565 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนสิงหาคม 2565 เงาะ ออกดอกแล้ว ร้อยละ 54 เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้ช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 และลองกอง ออกดอกบ้างเล็กน้อยร้อยละ 13 ส่วนใหญ่อยู่ในระยะช่อดอก คาดว่าจะทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้ช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกันยายน 2565

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ทุกจังหวัดต้องพร้อมใช้ 18 มาตรการของ Fruit Board ที่อนุมัติทั้งโครงการและงบประมาณล่วงหน้ามาตั้งแต่ต้นปี เพื่อสนับสนุนหน้างานแต่ละจังหวัดสามารถบริหารจัดการทำงานเชิงรุกหรือแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วที่สุด รวมทั้งการบริหารเป้าหมายและกลยุทธ์ใหม่ เช่น นโยบายเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ ลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ

ขณะนี้มังคุดเริ่มออกมามีปัญหาการส่งออกจากกรณีล้งต้องรอ 2 – 3 วันกว่าจะบรรจุเต็มคอนเทนเนอร์ ล้งจึงลงมาน้อยทำให้ราคาแกว่งตัวซึ่งในช่วงต้นฤดูกาลต้องเน้นตลาดในประเทศเป็นหลักก่อนไม่ใช่รอแต่จะส่งออกต้องปรับกลยุทธ์ตามสถานการณ์ ดังนั้นเพื่อให้การประสานแผนและกลยุทธ์ใน 14 จังหวัด

โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นฮับผลไม้ใต้ คือ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และจังหวัดยะลา มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงให้ตั้ง ”ศูนย์บริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ส่วนหน้า” โดยมอบ นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ นำทีมซึ่งเป็นกลไกใหม่มีหน้าที่ประสานการบริหารจัดการผลไม้ 14 จังหวัดภาคใต้ เช่นที่ใช้ในการบริหารผลไม้ภาคตะวันออกจนประสบความสำเร็จมาแล้ว

สำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องมังคุด จะเร่งเปิดโครงการเกษตรกร Happy เพื่อเชื่อมโยงตลาดในประเทศ และกระจายมังคุดและผลไม้อื่นๆจากเกษตรกรถึงผู้บริโภคทั่วประเทศให้มากที่สุดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์

นายอลงกรณ์ และคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมกระบวนการคัดบรรจุผลไม้ตามมาตรการ GMP Plus และมาตรการป้องกันการปนเปื้อนโควิด ส้มโอทับทิมสยาม มังคุด เงาะ ของบริษัทวินวิน เทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด ต.ท้ายสำเภา อ.พระพรหม ซึ่งเป็นสินค้า GI ของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายประยูร เงินพรหม ประธานหอการค้าจังหวัด

นายคมกฤต คลิ้งเชื้อ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท้ายสำเภา และนายสรรเพชญ์ ทันราย กำนันตำบลท้ายสำเภา ให้การต้อนรับและให้ข้อมูล จากนั้นจึงไปตรวจเยี่ยมล้งมังคุด ทุเรียน บริษัทหยกไทย จำกัด ต.ทอนหงส์ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช

เกษตรฯ ตั้งศูนย์จัดการผลไม้ภาคใต้ ปรับกลยุทธ์รับมือผลผลิตทะลัก 5 แสนตัน