สมคิด สั่งธ.ก.ส. ร่วมปฏิรูปภาคการเกษตร ชงตั้งกองทุนสตาร์ตอัพเกษตรกร

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมมอบนโยบายและตรวจเยี่ยมธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่า ในปี 2561 ต้องการให้ ธ.ก.ส. ปฏิรูปภาคการเกษตรโดยเฉพาะการดูแลเอสเอ็มอีเกษตร และการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจึงให้ไปศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนสตาร์ตอัพเพื่อเกษตรกร ในลักษณะเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ ที่มีลูกค้าสตาร์ตอัพเป็นของตัวเองมีหน้าที่ในการเข้าไปช่วยเงินทุนในการจัดตั้งกิจการรวมทั้งให้สินเชื่อเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

รวมทั้งให้ ธ.ก.ส. มีหน้าที่ในการช่วยเหลือในการลดต้นทุนให้เกษตรกรโดยลดภาระให้น้อยที่สุด เช่น อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี ที่ MRRหรือ 7% มีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดลงหรือไม่ ฝากให้ รมว.คลัง เข้าไปดูแล

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ในฐานะประประธานกรรมการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า นายสมคิด มอบหมายนโยบาย 2 เรื่อง คือ 1. ให้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐให้มีรายได้ดีขึ้นโดยเฉพาะผู้อยู่ต่ำกว่าเส้นยากจน 30,000 บาทต่อปี โดยในส่วนของเกษตรกรที่มาลงทะเบียนคนจนมีจำนวน 3.9 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.กว่า 1 ล้านราย และเกษตรกรทั่วไปกว่า 2 ล้านราย ผ่าน 3 มาตรการ 9 โครงการ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้นโดยจะเสนอพร้อมกับมาตรการบัตรจนเฟส 2 เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า

เรื่องที่ 2. แก้ปัญหาโครงสร้างภาคการเกษตรทั้งระบบ โดยปัจจุบันที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เนื่องจากไม่เคยมีการปฏิรูปมากว่า 40-50 ปี ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้ามาขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทัน ซึ่งปัญหาสำคัญเกษตรกรไม่ปลูกพืชที่ไม่สามารถขายได้ แต่ไม่เปลี่ยนแปลงแต่ข้อมูลมีการเชื่อมโยงทั่วโลก ประเทศอื่นปลูกในสิ่งที่ขายได้และกลายเป็นราคาอ้างอิง ทำให้สินค้าเกษตรไทยขายไม่ได้ราคา และมีต้นทุนสูงจึงสั่งให้ ธ.ก.ส. ไปหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดแนวทางการปฏิรูปที่ชัดเจน ภายในไตรมาส 1/2561 เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณเป็นการเร่งด่วน

“ถ้าปฏิรูปตอนนี้แม้จะต้องใช้งบประมาณเข้าไปอุดหนุนตามแผนอยู่เยอะ แต่ก็จะทำให้ภาคเกษตรมีการปรับตัว ปลูกสินค้าที่มีความต้องการ ส่วนสินค้าที่ไม่สามารถขายได้ ก็จะลดลง ท้ายที่สุดรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปอุดหนุนราคาอีก จึงฝาก ธ.ก.ส. และกระทรวงเกษตรฯ เข้าไปทำแผนร่วม ซึ่งเชื่อว่ากระทรวงเกษตรฯ มีข้อมูลทั้งหมดอยู่แล้ว เช่น การจัดโซนนิ่ง การใช้ตลาดเป็นตัวนำ ก็เป็นแผนหนึ่ง ส่วนจะใช้งบกลางปี หรืองบปี 2562 ขึ้นอยู่กับความเร่งด่วนของแผน”นายอภิศักดิ์ กล่าว

ส่วนเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ย หากเป็นเรื่องนโยบายฝ่ายบริหารของธนาคารก็ต้องรับไปพิจารณาดำเนินการแต่ปัจจุบันดอกเบี้ยของ ธ.ก.ส. ถือว่าต่ำมากอยู่แล้ว ขณะเดียวกันการให้สินเชื่อของธนาคาร ก็ไม่เหมือนกับธนาคารอื่นเนื่องจากมีการส่งเจ้าหน้าที่ เข้าไปติดตามช่วยเหลือดูแลลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกร ในส่วนนี้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหากสามารถทำได้น่าจะไปลดอย่างอื่น เช่น ต้นทุนการบริหารจัดการ เป็นต้น

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า 3 มาตรการ 9 โครงการที่จะเสนอ ครม.ในสัปดาห์หน้า ประกอบด้วย 1. มาตรการพัฒนาตัวเอง มี 2 โครงการ ในการให้ความรู้ทางการเงินกับเกษตรกร เป้าหมาย 1.09 ล้านราย 2. มาตรการพัฒนาอาชีพและเสริมรายได้ จากสินเชื่อ 2 โครงการ เป้าหมาย 7.84 แสนราย และ 3. มาตรการลดภาระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ รวม 5 โครงการ 3.3 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นโครงการชำระดีมีคืน 2.3 ล้านผ่านความเห็นชอบจากครม. ไปแล้ว โดยในส่วนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้น้อย 4.1 ล้านราย ธ.ก.ส. จะช่วยเหลือสินเชื่อ 9.5 หมื่นล้านบาท ใน 3 ปีโดยขอรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล 8 พันล้านบาท

 


ที่มา  ข่าวสดออนไลน์