4 เดือนไทยใช้ไฟพุ่ง 5.1% พลังงานหมุนเวียนยังช้า

ค่าไฟขึ้น

ความท้าทายของภาคการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยปีนี้ถือว่าน่าจับตามองมาก โดยเฉพาะจากปัญหาราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต้องวางมาตรการหลายด้าน ทั้งการยืดอายุโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ การปรับสูตรใช้น้ำมันมาผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ราคาก๊าซแพง การเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทน โซลาร์รูฟท็อป และการเปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะ

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็ต้องทยอยปรับค่าไฟแบบขั้นบันได ให้ประชาชนซึมซับข้อมูลที่แท้จริงว่า เมื่อการผลิตปรับเปลี่ยน แหล่งก๊าซธรรมชาติของไทยผลิตได้ลดลง ไทยต้องหันไปนำเข้าก๊าซธรรมชาติ (LNG) ที่มีราคาสูงมาใช้ในสัดส่วนเพิ่มขึ้น ย่อมทำให้ “ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น” และราคาก็ต้องปรับขึ้นตาม โดยได้ทยอยปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) ต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และเตรียมจะปรับขึ้นเอฟทีงวดต่อไปอีก 40 สตางค์ ทำให้ค่าไฟอยู่ที่ 4.40 บาท

แม้ว่าสถานการณ์ราคาพลังงานจะปรับสูง แต่การใช้ไฟฟ้าไม่ได้ปรับลดลง โดยล่าสุด ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า ภาพรวมการใช้ไฟฟ้า 4 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 5.1% ปริมาณ 64,013 GWh โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทุกประเภท (ตามกราฟิก)

การใช้ไฟฟ้า

ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ เพิ่มขึ้น 4.6% รวม 71,167 GWh แบ่งเป็นผลิตจากก๊าซธรรมชาติ 56% ประมาณ 39,937 GWh ถ่านหินนำเข้า/ลิกไนต์ คิดเป็น 15% ประมาณ 10,833 GWh การนำเข้าพลังงาน 14% ประมาณ 10,015 GWh พลังงานหมุนเวียน 11% ประมาณ 7,645 GWh พลังงานน้ำ 3% ประมาณ 2,404 GWh และน้ำมัน 0.5% หรือ 334 GWh

โดยทั้งหมดนี้เป็นการผลิตตามสัญญาในระบบไฟฟ้า 51,040 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ IPP สัดส่วน 32% กำลังการผลิต 16,124 เมกะวัตต์ (MW) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 30% กำลังการผลิต 15,520 MW การผลิตโดยโรงไฟฟ้า SPP สัดส่วน 19% กำลังการผลิต 9,439 MW การนำเข้าและแลกเปลี่ยน สัดส่วน 11% 5,721 MW และโรงไฟฟ้าจิ๋ว VSPP สัดส่วน 8% กำลังการผลิต 4,237 MW

อย่างไรก็ตาม ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าสถานการณ์การผลิตพลังงานหมุนเวียนของไทย (RE) ยังมีสัดส่วนน้อย เพียง 11% “ห่างเป้าหมาย” ในแผน AEDP

หากแยกเป็นรายสาขาจะพบว่า พลังงานไฟฟ้าจากชีวมวลมาเป็นอันดับ 1 กำลังการผลิต 3,754.6 MW และแม้ว่าจะบวกผู้ผลิตชีวมวลใช้เอง (IPS) อีก 611.1 MW แต่รวม ๆ แล้วก็ยังห่างจากเป้าหมายตามแผน AEDP 2018 ที่วางไว้ 5,790 MW อยู่ถึง 1,424 MW ขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 3,132.6 MW รวม IPS ที่มีอีก 46.1 MW จากเป้าหมายของแผนพลังงาน AEDP ปี 2018 ที่วางไว้ 12,139 MW ถึง 8,960 MW

ส่วนที่เหลือ พลังงานลม 1,516 MW จากแผน 2,989 MW ห่างอีก 1,472 MW, พลังน้ำขนาดเล็ก 95.9 MW จากเป้าในแผน 308 MW ยังเหลืออีก 212 MW ก๊าซชีวภาพ 386.6 MW บวกกับ IPS อีก 49.5 MW จากเป้าหมายในแผน 1,565 MW เหลืออีก 1,129 MW และไฟฟ้าขยะ กำลังการผลิต 491.9 MW จากแผน 975 MW เหลืออีก 483 MW

แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่มีการหารือถึงเป้าหมายจะเพิ่มพลังงาน RE จาก 11% เป็น 14-15% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งแปลว่าเราเหลือเวลา 18 ปี ที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้แทบริบหรี่ หรืออาจจะช้าไป

นายอาทิตย์​ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไทยจำเป็นต้องทำเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะไทยต้องเผชิญปัญหาแรงกดดันจากประชาคมโลกในการดำเนินนโยบายลดโลกร้อน แต่เพราะไทยติดประเทศ TOP 10 ที่เป็นเหยื่อของปัญหาโลกร้อน

โดยจะต้องผลักดัน sandbox 2 ต่อ พร้อมทั้งพัฒนา grid modernization ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญมากต่อการขยายตัวของ RE ให้เป็นไปได้อย่างเต็มขีดความสามารถเพื่อให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรม เพื่อรองรับ RE ในอนาคต

ซึ่งที่ผ่านมาทางกระทรวงพลังงานได้วางนโยบาย (4)D (1)E จะต้องกำหนดเป้าหมายในเชิงปริมาณและเวลาที่ชัดเจน อาศัยการสร้างความร่วมมือที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ในการทำงานระหว่างภาครัฐ และเอกชน ซึ่งทางเอกชนพร้อมจะร่วมมือกับรัฐเต็มที่ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดซึ่งจะให้ประโยชน์กับประเทศในระยะยาว