กทท.พร้อมเปิดท่าเรือชายฝั่ง 20จี เดินหน้าผุดคลังสินค้าหนุนส่งออก

นายโกมล ศรีบางพลีน้อย ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) เปิดเผยว่า ท่าเรือกรุงเทพได้ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ Terminal 2 บริเวณเขื่อนตะวันออก(ปากคลองพระโขนง) ให้เป็นท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ด้วยงบประมาณ 425 ล้านบาท มีผลตอบแทนการลงทุน(IRR) 22%  และคาดว่าจะคืนทุนไม่เกิน 6 ปี โดยการก่อสร้างและติดตั้งปั้นจั่นยกตู้สินค้าจะแล้วเสร็จในเดือนนี้ จากนั้นจะทดสอบระบบในเดือนกุมภาพันธ์ และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนมีนาคม

ทั้งนี้ท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G จะมีขีดความสามารถรองรับเรือชายฝั่งได้ประมาณปีละ 4,000 ลำต่อปี หรือคิดเป็นปริมาณตู้สินค้า 240,000 ที.อี.ยู.ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 60,000 ที.อี.ยูต่อปี คาดว่าจะรองรับความต้องการขนส่งสินค้าได้ 10-20 ปี โดยมีพื้นที่บริเวณหน้าท่ายาว 250 เมตร พร้อมติดตั้งปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าชนิดเดินบนราง(Rail Mounted Gantry Crane: RMG) จำนวน 2 คัน สามารถยกตู้สินค้าได้ 40 ตัน รองรับเรือชายฝั่งได้พร้อมกัน 2 ลำ มีพื้นที่กองเก็บตู้สินค้าติดท่าเรือ รองรับการขนส่งด้วยเรือท้องแบน(Barge) ไม่ต่ำกว่า 60 ที.อี.ยูต่อเที่ยว

นอกจากนี้ยังสามารถตรวจปล่อยสถานะตู้สินค้าของกรมศุลกากร ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จุดเดียวเบ็ดเสร็จ โดยสามารถส่งตู้สินค้าไปเปลี่ยนถ่ายขึ้นเรือใหญ่ที่ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออกได้ทันที

ท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G จึงนับเป็นท่าเรือแรกที่มีการตรวจปล่อยสถานะตู้สินค้าที่ต้นทาง โดยไม่ต้องตรวจสอบซ้ำที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือปลายทาง ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยลดปัญหาการจราจรทางบกที่ท่าเรือแหลมฉบังลงได้

นายโกมล กล่าวว่า การท่าเรือฯยังได้ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อลดค่าธรรมเนียมการบรรทุกสินค้าลงท่าเรือชายฝั่ง 20G ไปยังท่าเรือแหลมฉบังลง 15-20% ในระยะแรก เนื่องจากต้องการดึงดูดให้เอกชนมาใช้บริการ โดยคาดว่าในปี 2561 จะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 20-30% เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ และคาดว่าจะช่วยลดปริมาณการขนส่งสินค้าทางรถบรรทุกไปท่าเรือแหลมฉบังได้ 2-3 หมื่นคัน

นายโกมล กล่าวต่อว่า ในปี 2661 ท่าเรือกรุงเทพจะลงทุนก่อสร้างคลังสินค้าเพื่อสนับสนุนการส่งออกขนาด 10,000 ตารางเมตร ด้วยวงเงิน 1,300 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบันท่าเรือกรุงเทพมีคลังสินค้าเพียง 1 แห่ง ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่วนที่เหลือเก็บสินค้าในลานกว้างขนาด 120 ไร่ ซึ่งเกิดปัญหาสินค้าเสียหายเมื่อฝนตก

สำหรับคลังสินค้าแห่งใหม่จะมีรูปแบบ Cross Docking ซึ่งทำให้การขนส่งสินค้าใช้เวลาลดลงและมีปริมาณการหมุนเวียนรถบรรทุกสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 2 รอบ เป็น 3-4 รอบ จึงคาดว่าจะรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ 100,000 ทีอียู โดยการก่อสร้างใช้เวลา 1 ปี 6 เดือนและจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2562 มีผลตอบแทนการลงทุน 11-12% ใช้เวลาคืนทุนประมาณ 8 ปี และการท่าเรือฯ จะบริหารโครงการเอง

นอกจากนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างอาคารทรงสูงเพื่อเป็นจุดรวมและกระจายสินค้า (Bangkok Port Distribution) เพื่อลดลงการใช้พื้นที่ของกิจกรรมต่างๆลงจาก 930 ไร่ เหลือ 533 ไร่ ได้แก่ ตู้สินค้าขาเข้าทั้งหมด, เขตปลอดอากร (Free Zone), สินค้าผ่านแดน, คลังสินค้าตกค้าง,  คลังสินค้ารถยนต์, จุดบริการเบ็ดเสร็จ(One Stop Service), จุดจอดและจัดระเบียบรถบรรทุกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจราจร

โดยการศึกษาและออกแบบรายละเอียดจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 เบื้องต้นคาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนไม่ถึง 10,000 ล้านบาท จากนั้นจะใช้เวลาก่อสร้างระหว่างปี 2563-2654 โดยท่าเรือกรุงเทพจะทยอยคืนพื้นที่ที่เหลือจากการพัฒนาประมาณ 397 ไร่ เพื่อให้นำไปบริหารสินทรัพย์และหารายได้เพิ่มเติมภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้อยู่ในรั้วท่าเรือกรุงเทพและไม่มีชุมชนอาศัยอยู่จึงพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ทันที

นอกจากนี้ท่าเรือกรุงเทพจะศึกษาโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์ฝั่งเขื่อนตะวันตก เพราะการขนส่งสินค้าทั่วไปจะลดลงเรื่อยๆ และการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ฝั่งเขื่อนตะวันออกค่อนข้างแออัด ทำให้บางครั้งเรือต้องลอยลำรอ 1-2 วัน ถ้าหากพัฒนาฝั่งตะวันตกเป็นท่าเรือขนส่งคอนเทนเนอร์ด้วย ก็จะทำให้ระยะเวลาการรอลดลง โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเฟสถัดไปในปี 2564-2565

 

ที่มา มติชนออนไลน์