ถอดบทเรียนโลก เปิดเสรีกัญชาต้องปลอดภัย

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

หลังประกาศปลดล็อกเปิดเสรี “กัญชา” เต็มรูปแบบ โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 พ.ศ. 2565 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 กำหนดให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติด

“ยกเว้น” สารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก ขณะที่การผลิต การนำเข้า-ส่งออก จำหน่าย เสพ หรือการมีไว้ในครอบครองจะไม่มีความผิดอีกต่อไป “กัญชา” จึงกลายเป็นสินค้าแห่งความหวังที่จะนำไปใช้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ในทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพ และสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ แต่ในอีกด้านความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความชัดเจน ทำให้สังคมส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับเสรีกัญชาแตกต่างกัน

ภาคธุรกิจผู้ประกอบการที่ออกโรงวางแผนพัฒนาทั้งปลูก สารสกัด และการแปรรูปเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ชะลอแผน เพื่อรอความชัดเจนเกี่ยวกับการออกกฎหมายกำกับดูแลว่าจะเป็นอย่างไร

สิ่งที่อนุญาตให้ทำได้หลังการเปิดเสรีกัญชา คือ ผู้ปลูกต้องขออนุญาตคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และครอบครองได้ ยกเว้นสารสกัด THC เกิน 0.2% ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถขยายส่วนของพืชกัญชา กัญชง และสารสกัดที่ THC ไม่เกิน 0.2% และร้านค้าต้องควบคุมให้ข้อมูลด้านสุขภาพ ตระหนักถึงสุขภาพของผู้บริโภค

ด้านการนำเข้าและส่งออก สามารถนำเข้าเมล็ดพันธุ์ ขยายพันธุ์ได้ โดยต้องขออนุญาตจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนการนำเข้าหรือส่งออก ผลิตภัณฑ์ต้องขออนุญาตจาก อย. และการผลิตสินค้าต่าง ๆ ที่มีส่วนผสม ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์ชนิดนั้น ๆ เช่น พ.ร.บ.อาหาร, พ.ร.บ.เครื่องสำอาง เป็นต้น

และหากผู้ประกอบการต้องการจะส่งออก ก็จะยิ่งยาก เพราะต้องดำเนินการตามกฎหมายของประเทศปลายทาง จึงนับว่าตลอดกระบวนการผลิตกัญชา “ไม่ใช่เรื่องง่าย”

แม้ข้อมูล The Global Cannabis Report จะระบุว่า ตลาดกัญชาทั่วโลกมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.039 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 เป็นกัญชาทางการแพทย์ 60% และกัญชาเพื่อสันทนาการ 40% แต่หากตรวจสอบไปยังตลาดส่งออกทั่วโลก จะพบว่า

ปัจจุบันมีตลาดค้าเสรีกัญชา 100% อยู่เพียง 2 ประเทศ คือ แคนาดาและอุรุกวัย ขณะที่ตลาดที่เปิดเสรีกัญชาทางการแพทย์มี 33 ประเทศ ส่วนประเทศที่เปิดเสรีกัญชาสำหรับสันทนาการมี 6 ประเทศ (กราฟิก)

และจากการตรวจรายงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ทั่วโลก ย้อนหลังในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีอย่างน้อย 5 ประเทศที่มีการขับเคลื่อนนโยบายด้านกัญชาที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม คือ แคนาดา เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และจีน

ถอดบทเรียบเปิดเสรี 100%

ประเทศแรกที่ต้องพูดถึง คือ “แคนาดา” ที่เรียกว่าเปิดเสรี 100% อนุญาตให้ใช้ทั้งในทางการแพทย์และสันทนาการ แต่ยังห้ามร้านค้าต่าง ๆ ไม่ให้ขายกัญชาดิบ และจำกัดอายุผู้ซื้อต้องไม่ต่ำกว่า 18 ปี ทางสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ประจำนครโทรอนโต ระบุว่า

สินค้าผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาเป็นสินค้าถูกกฎหมาย เมื่อปี 2562 มีการนำไปเป็นส่วนผสมของคุกกี้ เบเกอรี่ เจลลี่ ช็อกโกแลต แต่ก็ยังมีสถานะยังเป็น “สินค้าควบคุม” ที่ไม่อนุญาตให้มีการโฆษณา ห้ามทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย ผู้ค้าทั้งปลีก-ส่งจะต้องได้รับอนุญาต จึงทำให้การจำหน่ายสินค้าอยู่ในวงจำกัด

ล่าสุดทาง สคต.แฟรงก์เฟิร์ต “เยอรมนี” รายงานว่า ได้เริ่มกระบวนการ “Cannabis but safe” ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นผลจากรัฐบาลมีนโยบายควบคุมการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ แก่ผู้ใหญ่ผ่านร้านค้าที่ได้รับอนุญาต ภายใต้กฎหมายที่กำหนดชัดเจนด้านการขาย การซื้อ และการครอบครอง เพื่อสุขภาพของผู้บริโภค

สำหรับ “Cannabis but safe” เป้าหมายมุ่งจะรวบรวมองค์ความรู้เฉพาะทางที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการด้านกัญชา โดยวางกรอบการศึกษา 5 ด้าน ด้านสุขภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค การคุ้มครองเยาวชน ห่วงโซ่อุปทานประเด็นทางด้านเศรษฐกิจและนิเวศวิทยา ความรับผิดทางอาญา มาตรการตรวจสอบ และการออกใบอนุญาต และการรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศในด้านนี้

โดยหลังจากนั้นจึงจะมีการพิจารณา “ข้อสรุป” ที่แน่นอนสำหรับการผลิต การขาย ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งขณะนี้เยอรมนียังไม่มีการอนุญาตให้เพาะปลูก และจำหน่ายกัญชาเชิงพาณิชย์

27 ประเทศห้ามนำเข้า

ขณะที่ประเทศที่ประกาศห้ามนำเข้ากัญชา ตามข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศขณะนี้มี 27 ประเทศ ที่วางบทลงโทษ ทั้งปรับและจำคุก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมีบางประเทศ ที่กำหนดโทษขั้นสูงสุดถึงขั้น “ประหารชีวิต” คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ เป็นต้น

โดยในรายงาน สคต.เมืองเซี่ยเหมิน ประเทศจีน ระบุว่า ปัจจุบันจีนวางมาตรการเข้มงวดในอุตสาหกรรมกัญชามากกว่าสากล ทั้งที่ในจีนมีการปลูกกัญชา มณฑลยูนนานและเฮยหลังเจียง ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวอนุญาตให้สามารถแปรรูปกัญชาได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย

ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2564 สถาบันควบคุมอาหารและยาแห่งชาติจีน ร่างประกาศเกี่ยวกับ “วัตถุดิบเครื่องสำอาง” โดยห้ามใช้เมล็ดกัญชา น้ำมันเมล็ดกัญชา และสารสกัดจากใบกัญชา และสาร CBD (Cannabidiol) เป็นส่วนผสม เพื่อสร้างมาตรฐานในการผลิต

ข้อมูลสถิติพบว่า เครื่องสำอางที่มีส่วนผสม CBD กำลังสู้กันอย่างดุเดือด นับตั้งแต่ปี 2562 มีจำนวน 18 รายการ จากนั้นเพิ่มเป็น 413 รายการ เมื่อปี 2563 และเพิ่มอีก 1,783 รายการ เมื่อไตรมาส 1 ปี 2564 ซึ่งปัจจุบันสินค้าเครื่องสำอางแบรนด์ใหญ่-เล็กต่างผลิตเครื่องสำอางที่มีส่วนผสม CBD เข้าตลาดจีนจำนวน มีทั้ง Estee Lauder, Kiehl’s, KPC Pharmaceuticals, Conba, Capstone

นั่นเป็นตัวอย่างเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ยังไม่นับรวมในอุตสาหกรรมอื่น เช่น บุหรี่ไฟฟ้า และยิ่งเป็นอุตสาหกรรมอาหารด้วยแล้ว โอกาสในการพัฒนาสินค้าที่มีส่วนผสมกัญชายังต้องใช้เวลาอีกนาน

สร้างการรับรู้เรื่องกัญชา

ในส่วนของประเทศไทย นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การส่งเสริมพืชเศรษฐกิจกัญชาต้องดำเนินการควบคู่กับการสร้างการรับรู้เรื่องกัญชา (Cannabis Literacy)

ซึ่งขณะนี้ต้องสื่อสารให้ชัดเจน เพราะพืชชนิดนี้มีทั้งประโยชน์และโทษ ด้านประโยชน์นั้นชัดเจนอยู่แล้ว และมีกฎหมายรองรับ เช่น ช่วยเจริญอาหาร แก้กระหายน้ำ ช่วยย่อย แก้ท้องผูก แก้อักเสบ และแก้เครียด ส่วนในด้านสันทนาการจำเป็นต้องเร่งออกกฎหมายควบคุม

ทั้งนี้ กัญชาแต่ละสายพันธุ์จะมีระดับสาร THC ระดับที่แตกต่างกันไป ซึ่งลักษณะการแพ้กัญชาจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล คล้ายกับการแพ้กลูเตน ถั่ว หรืออาหารทะเล ซึ่งเท่าที่รับทราบข้อมูลจากทางแพทย์แผนไทยแจ้งว่าคนที่แพ้กัญชาจะตอบสนองการรักษาด้วยกัญชาได้ดีมาก

หมายถึง หากนำไปทำเป็นสมุนไพร รักษาที่มีส่วนผสมของกัญชา คนป่วยจะตอบสนองกับยาได้ดีและหายเร็ว ทั้งนี้ยาดังกล่าวจะมีส่วนผสมของกัญชาและพืชอื่นด้วย

“กระแสขณะนี้คนเริ่มมองกัญชาเป็นอีกมุม ทำให้กลายเป็นมีแต่ข่าวด้านลบ ซึ่งจะมีผลให้ด้านที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและยารักษาโรค จะไม่มีใครอยากพัฒนา เพราะถูกมองแต่ด้านลบอย่างเดียว ส่วนในด้านการนำมาเป็นส่วนผสมของอาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มตอนนี้มีกฎหมายควบคุมอย่างเคร่งครัดจาก อย.

แต่ที่นำมาใช้ตามบ้าน ร้านอาหารนั้นต้องเร่งสร้างความเข้าใจและโดยเฉพาะร้านอาหารจำเป็นต้องติดป้ายบอกให้ชัดว่ามีเมนูผสมกัญชา ประเด็นนี้ทางสถาบันอาหารกำลังเร่งทำข้อมูลพวกนี้ออกมาช่วย”

เดิมพันเศรษฐกิจครั้งนี้มีมูลค่ามหาศาล จากคาดการณ์ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ไทยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 7,000 ล้านบาท ในอีก 2 ปีข้างหน้า จากปี 2564 ที่มีมูลค่าราว 3,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.02-0.04% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

ส่วนมูลค่าตลาดของกัญชาที่ใช้เพื่อความเพลิดเพลินอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท ภายในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ตลาดกัญชง (หมายถึงมีสาร CBD ต่ำกว่า 1%) ของไทยจะเติบโตปีละ 126% มีมูลค่า 15,770 ล้านบาท ในปี 2568 จากปี 2564 ที่มีมูลค่า 600 ล้านบาท สุดท้ายอนาคตกัญชาจะเป็นอย่างไร