ซาอุฯเยือนไทยในรอบ 32 ปี บุก EEC สนใจลงทุน EV-ดิจิทัล

คณิศ แสงสุพรรณ จากเทคโนแครต สู่นักการเมือง
คณิศ แสงสุพรรณ

อีอีซีรับคณะหอการค้ามณฑลริยาด เชื่อมความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย สนใจลงทุนทั้งยานยนต์ EV ดิจิทัล การแพทย์ชั้นสูง ท่องเที่ยวสุขภาพ แปรรูปอาหาร ดันการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 4 แสนล้านบาท/ปี

วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) กล่าวถึงความก้าวหน้าภาพรวมด้านต่าง ๆ ของพื้นที่ EEC และการสร้างความร่วมมือกับซาอุดีอาระเบีย หลังให้การต้อนรับคณะจากหอการค้ามณฑลริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียกว่า 100 คน นำโดยนายคารีม อัลอันซี่ (Mr.Krayem Alenezi) หัวหน้าคณะนักธุรกิจในการมาเยือนพื้นที่ EEC ว่า คณะหอการค้ามณฑลริยาด จากซาอุฯ ได้มาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 32 ปี หลังจากความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ซาอุฯ ได้กลับสู่ระดับปกติ

นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนซาอุฯอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 และการไปเยือนเพื่อต่อยอดของภาครัฐและภาคเอกชนไทย ซึ่งได้สร้างโอกาสทั้งด้านเศรษฐกิจ การลงทุนและการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี กระชับความสัมพันธ์ของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ กระตุ้นด้านการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากซาอุฯ เดินทางมาประเทศไทยต่อเนื่อง สร้างรายได้ภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เพื่อฟื้นเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

พร้อมกันนี้ คณะหอการค้ามณฑลริยาด จากซาอุฯ ยังได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานภายในโรงงาน บมจ.เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จ.ระยอง (SNC) ซึ่งเป็นต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรม 4.0 ภายในพื้นที่ EEC โดยกลุ่มนักธุรกิจจากซาอุฯ ได้ให้ความสนใจศึกษาในส่วนของโรงงานที่ใช้นวัตกรรมเครื่องจักรที่ควบคุมด้วยระบบดิจิทัล กลุ่มแปรรูปอาหารและเทคโนโลยีห้องเย็น การทดสอบและผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และในส่วนของการจัดแสดงผลไม้ ผลิตภัณฑ์ชุมชนโอทอป รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง

“นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่อีอีซีได้ให้การต้อนรับคณะหอการค้ามณฑลริยาด จากซาอุฯดังกล่าว ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทางซาอุฯ สนใจ เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัลนวัตกรรมขั้นสูง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูป อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV ที่จะขับเคลื่อนบริบทเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG เป็นต้น

รวมทั้งจะเป็นอีกกลไกสำคัญเพื่อจูงใจนักลงทุนจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ให้เข้าสู่พื้นที่อีอีซีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนทั่วโลกต่อเนื่อง เพื่อช่วยขับเคลื่อนแผนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ระยะ 2 ในอีก 5 ปีข้างหน้า (2565-2569) ที่อีอีซีได้ตั้งเป้าหมายการลงทุนรวม 2.2 ล้านล้านบาท ทำให้มูลค่าการลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้นประมาณ 400,000 ล้านบาท/ปี (จากเดิม 300,000 ล้านบาท/ปี) เป็นกลไกหลักผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ 4.5-5% ต่อปี พร้อมส่งผลให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่ประเทศพัฒนา และคนไทยมีรายได้สูงขึ้นได้ในปี 2572”