ส่งออกปีจอโต 6-6.5% จับตาราคาน้ำมัน-อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน

ภาพรวมการส่งออกของประเทศไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี (มกราคม-พฤศจิกายน) 2560 มีมูลค่า 216,953 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 10% นับเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 202,744 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 14.5% โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 14,209 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2560 มีมูลค่า 21,435 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 13.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,672 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 13.7% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 1,763 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่องนั้นมาจากเหตุผลที่ว่า เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้ตลาดหลักอย่าง สหรัฐ ยุโรป และเอเชีย มีความต้องการนำเข้าสินค้ามากขึ้น ความต้องการสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยเฉพาะข้าวในเดือนพฤศจิกายนสามารถส่งออกได้ถึง 1.5 ล้านตัน หรือสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมไปถึงสินค้าเกษตรรายการอื่น เช่น ยางพารา, ผลไม้สดแช่แข็ง, ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป, น้ำตาล ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 การส่งออกรถยนต์ดีขึ้น-สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ-จีน-ญี่ปุ่น และยุโรป

ปี”60 ส่งออกทะลุเป้า 10%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้แสดงความั่นใจว่า หากการส่งออกเดือนสุดท้ายของปี (ธันวาคม 2560) สามารถทำได้ถึง 19,973 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะส่งผลให้ภาพการส่งออกตลอดทั้งปี 2560 ของประเทศไทยขยายตัว 10% ถือเป็นยอดสูงสุดในรอบ 5 ปี นับจากปี 2554 ที่การส่งออกเคยขยายตัวถึง 15.15%

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์การส่งออกปี 2561 มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ 6-6.5% มูลค่า 250,000-251,279 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น หมายถึงประเทศไทยจะต้องส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 20,833 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินจากการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตและสินค้าทุน (เครื่องจักร) ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีต่อเนื่องถึงปี 2561 อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าคู่ค้าหลัก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ

สำหรับการคาดการณ์ส่งออกปี 2561 จะอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า ค่าเงินบาทอยู่ระหว่าง 33-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ, ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล, อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 4% แต่กระทรวงพาณิชย์จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออกที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

ประชารัฐ D4 มองส่งออก 

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะกรรมการสานพลังประชารัฐชุดการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ หรือชุด D4 กล่าวว่า คณะ D4 ได้คาดการณ์เป้าหมายการส่งออกปี 2561 น่าจะขยายตัวอยู่ระหว่าง 5-6% ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่ต่ำกว่าของกระทรวงพาณิชย์ที่ประเมินไว้ 6.5% เนื่องจากการส่งออกในปี 2560 ที่คาดว่าจะขยายตัว 10% นั้นถือเป็นฐานที่สูง

สำหรับปัจจัยบวกที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกปีนี้ มาจากทิศทางราคาน้ำมันสูงขึ้นจากปี 2560 ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ หรือสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น พลาสติก ทำให้มีราคาปรับตัวสูงขึ้นหลายรายการ ส่วนปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน คาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง (คณะ D4 ประเมินไว้ก่อนเดือนมกราคม 2561) แต่ประเทศไทยยังคงมีรายได้จากการท่องเที่ยว และหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐดีขึ้นเพราะรัฐบาลเพิ่งปรับลดภาษี แต่ก็ยังคงมีความผันผวนอยู่ ยกตัวอย่างปี 2560 ต้นปีคาดการณ์ว่าค่าบาทจะอ่อน แต่ปลายปีค่าบาทแข็งค่าขึ้นมาก ดังนั้นผู้ส่งออกยังจำเป็นต้องประกันความเสี่ยงอยู่

แต่การคาดการณ์ข้างต้นยังไม่รวมผลจากความพยายามที่จะฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป เนื่องจากยังมีขั้นตอนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องอีกหลายด้าน เช่น ประเทศไทยต้องมีการเลือกตั้งก่อน แต่สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลต้องเร่งผลักดันการลงทุนใน ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน และมุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีส่วนทำให้ประเทศไทยมีสินค้านวัตกรรมใหม่ ๆ เข้าไปรุกตลาดส่งออก เพื่อช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับประเทศ แม้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาและบุคลากรมากขึ้นเพียงใดก็ตาม ที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นจากกรณีที่บริษัทซัมซุงเข้าไปลงทุนผลิตสมาร์ทโฟนในเวียดนาม ส่งผลทำให้การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

สิ่งทอไทยย้ายฐานไป CLMV

ขณะที่มุมมองจากภาคเอกชนหลายกลุ่มก็มองในทิศทางบวกเช่นกัน โดยนายยศธน กิจกุศล กรรมการผู้จัดการ บริษัทแวนสัน (ประเทศไทย) อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย คาดการณ์ว่า ในปี 2561 การส่งออกเครื่องนุ่งห่มอาจจะขยายตัวได้ถึง 3-5% จากปี 2560 ซึ่งไม่มีการขยายตัวเลย

แต่ภาวะการส่งออกที่ไม่ขยายตัวเลยในอุตสาหกรรมนี้ถือว่า ยังไม่น่าห่วง เนื่องจากบริษัทผู้ส่งออกรายหลัก ๆ หลายรายได้ตัดสินใจขยายฐานการผลิตไปอยู่ยังเวียดนาม-กัมพูชา-สปป.ลาว-เมียนมา-อินโดนีเซีย ไปแล้วประมาณ 20 โรงงาน จากช่วงแรก ๆ ที่เข้าไปลงทุนเพียง 5-6 โรง ดังนั้นแนวโน้ม

ปี 2561 สินค้าเครื่องนุ่งห่มก็ยังมีโอกาสจะขยายการลงทุนออกไปอีก ขึ้นอยู่กับทิศทางค่าแรงงานในส่วนของไทยและประเทศเป้าหมาย แต่ในปีที่ผ่านมาทั้งเวียดนาม-กัมพูชามีการปรับขึ้นค่าแรงงานหมด ในขณะที่เมียนมาก็เริ่มเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงด้วยเช่นกัน

นายวิศิษฐ์ ลิ้นลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เชื่อว่าการส่งออกในปี 2561 จะขยายตัว 3-5% จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกดีขึ้น มีผลต่อคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามามากขึ้น แต่ปัจจัยที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ก็คือ อัตราแลกเปลี่ยนที่จะมีผลต่อต้นทุนราคาและความสามารถในการแข่งขันในตลาด ขณะที่เรื่องวัตถุดิบในการผลิตอาหารทั้งในกลุ่มผัก-ผลไม้ ในปี 2561

ไม่น่าเป็นห่วง ทั้งนี้ขอให้ภาครัฐเดินหน้าเจรจาการค้ากับประเทศคู่ค้าเพื่อผลักดันการส่งออก การสร้างความเชื่อมั่น และแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า


ส่วนภาคบริการนั้น นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะ D4 กล่าวว่า แม้จะยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายรายได้จากภาคบริการที่ชัดเจน แต่จะเห็นได้ว่า “ธุรกิจบริการหลักเป็นธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพ” โดยเฉพาะบริการด้านการท่องเที่ยว จะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ คาดการณ์ปี 2561 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 34 ล้านคนเป็น 37 ล้านคน ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลดีกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวภายในประเทศด้วย แต่สิ่งสำคัญคือ ปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศของไทย จะต้องดูแลให้มีเสถียรภาพด้วย