เปิดรูตเส้นทางค้า 3 ประเทศ Trilateral Highway

“เมียนมา” ถือเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีพรมแดนติดกับ 5 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ จีน ลาว และไทย ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่รัฐบาลไทยต้องเตรียมพร้อมในการใช้ประโยชน์เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางเศรษฐกิจการค้า โดยเฉพาะโครงการทางหลวงเชื่อมอินเดีย-เมียนมา-ไทย (India-Myanmar-Thailand Trilateral Highway) ถือเป็นจุดเชื่อมโยงของอินเดียกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง “อดุลย์ โชตินิสากร” รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้มาวิเคราะห์มุมมองเส้นทางการค้าหลัก และโอกาสของสินค้าไทยอย่างน่าสนใจยิ่ง

รูตหลักสินค้าไทย

ปัจจุบันด่านแม่สอด เป็นประตูการค้าหลักระหว่างไทย-เมียนมา หากนับจากแม่สอด ไปเมียวดี-ผาอัน-เมาะลำไย-ย่างกุ้ง-เนย์ปิดอว์-มัณฑะเลย์-กาเลเมียว-ตามู ชายแดนเชื่อมต่อเมียนมา-อินเดีย จะเห็นว่าเส้นทางการขนส่งสินค้าถนนบางช่วงดี แต่หลายช่วงอาจจะยังค่อนข้างลำบากในการเดินทาง ดังนั้นการใช้ประโยชน์เส้นทาง Trilateral Highway มีความเป็นไปได้ แต่ไม่ได้ขยับเร็วมากนัก

เริ่มช่วงแรกข้ามจากแม่สอดไปเมียวดี ระยะทาง 50-60 กม. ถนนดี เพราะรัฐบาลไทยเข้าไปช่วยเหลือเมียนมาในการก่อสร้าง จากนั้นวิ่งไปต่อเชื่อมกับเส้นทางเดิมจากเมาะลำไย-ย่างกุ้ง เป็นเส้นทางที่พอใช้ได้ จากนั้นผ่านเนย์ปิดอว์ไปมัณฑะเลย์ เป็นเส้นทางไฮเวย์อย่างดี 2 เลน แต่เส้นทางจากมัณฑะเลย์ไปกาเลเมียว ระยะทาง 485 กม.ถือเป็นเส้นทางที่ค่อนข้างลำบาก หรือเป็นช่วงโหดที่สุดของ Trilateral Highway พอเริ่มออกจากมัณฑะเลย์ข้ามแม่น้ำอิระวดีไปรัฐสกาย ถนนไม่ดี แห้งแล้ง และจะขับรถไต่ขึ้นภูเขาไปเรื่อย ๆ เป็นถนนเล็ก ๆ ขนาดสองเลน ใช้เวลาขับรถ 13 ชม.

เส้นทางจากมัณฑะเลย์ต่อไปชายแดนตามู มี 2 เส้นทาง คือ ทางกาเลเมียวเป็นเส้นทางที่นิยมใช้มากที่สุด ระยะทางประมาณ 130-140 กม. ช่วงนี้มีสะพานประมาณ 70 สะพาน หรือเฉลี่ยมีสะพานทุก ๆ 2 กม. ปัญหาตรงนี้ คือ สะพานเป็นไม้ รถวิ่งได้ทีละคันสวนกันไม่ได้ คนขับต้องใช้ความระมัดระวังมาก ทำให้เกิดปัญหาความล่าช้า  “คอขวด” ขณะที่กาเลวะ มีระยะทางสั้นกว่ากาเลเมียว ประมาณ 40 กม. แต่มีปัญหาในช่วงฤดูฝน เส้นทางไม่สามารถขนส่งได้ จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่ากับกาเลเมียว

อย่างไรก็ตาม สำหรับเส้นทางกาเลเมียวไปตามู 140 กม. ถือเป็นเส้นทาง “เฟรนด์ชิปโรด” ที่รัฐบาลเมียนมา และรัฐบาลอินเดียร่วมมือกันว่าจะพัฒนาเส้นทางนี้ภายใน 18 เดือน ถ้าสะพานเป็นสองเลน สองฝั่งได้ ตรงจุดนี้จะโฟลว์มาก ทราฟฟิกช่วงกาเลเมียวไปตามูจะดีขึ้น

สามเหลี่ยม ศก.เชื่อมลุ่ยลี่

หากพิจารณาแผนที่เส้นทางเชื่อมโยงเมือง “มัณฑะเลย์” ถือเป็นเมือง “สามแยก” ที่เชื่อมต่อกับอินเดีย และจีนที่น่าสนใจยิ่ง หากขับตรงขึ้นไปเป็นกาเลเมียว แต่เลี้ยวอีกด้านจะไปราเชล ซึ่งถือเป็นเมืองสำคัญของรัฐฉานทางตอนเหนือ ผ่านไปอีก 90 กม. จะถึงมูเซน้ำคำ เป็นฝั่งตรงข้ามกับ “ลุ่ยลี่” ประเทศจีน ถือเป็นอีกหนึ่งเส้นทางเศรษฐกิจสำคัญที่รัฐฉานใช้ส่งออกสินค้าเกษตรเข้าจีน และจีนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคเข้ามาจำหน่ายในเมียนมา

ในทางกลับกัน หากคนจีนวิ่งมาทางจีนใต้ เข้าลุ่ยลี่ ออกมูเซ วิ่งถึงมัณฑะเลย์ วกขึ้นไปอินเดียใกล้กว่าไทย แต่ประเด็นคือคนไทยไปตรงนี้จะเห็นตลาดสินค้าจีน แต่ทำปลอมสินค้าไทยจำนวนมาก

รัฐฉานดึงลงทุนนิคม-บริการ

หากวิเคราะห์เส้นทางนี้จะเห็นว่า ผาอันเป็นเมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง มี “หอการค้า” เข้มแข็ง ไปถึงเมาะลำไย เป็นเมืองหลวงของรัฐมอญก็เข้มแข็ง ย่างกุ้งเป็นเมืองหลวง ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในแต่ละเมืองหลวงที่วิ่งผ่านมีฐานะร่ำรวยทุกเมือง เส้นทางนี้ถือเป็นเส้นทางหลักของสินค้าไทย หลังจากส่งสินค้ามาที่แม่สอดไปมัณฑะเลย์ พ่อค้าเมียนมาจะเป็นผู้รับสินค้าไปกระจายต่อ แต่ “รัฐฉาน” มีแคแร็กเตอร์พิเศษจากรัฐทั้งหมดในเมียนมา ซึ่งมี 7 รัฐ บวกกับ 7 เขตปกครอง ด้วยภูมิประเทศที่เป็นภูเขา และขนาดพื้นที่ รัฐฉานเพียงรัฐเดียวมีพื้นที่ 1 ใน 4 ของเมียนมาทั้งประเทศ

ดังนั้นจึงเป็นตลาดขนาดใหญ่ และเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญ มีความอุดมสมบูรณ์ และประชากรส่วนใหญ่เป็นคนไทลื้อ ไทเขิน ยอง เป็นต้น

ส่วนกฎระเบียบการปกครองตามระบบอังกฤษ มีรัฐบาลกลาง เรียกว่า Union Government หรือ Federal Government มีการจัดตั้งกระทรวงขึ้นมาดูแลรัฐต่าง ๆ และแต่ละรัฐจะมีมุขมนตรีใหญ่สุด เรียก “Chief Minister” และมีคณะรัฐมนตรีของแต่ละรัฐปกครอง ระดับ State Minister มีอำนาจอนุมัติโครงการต่าง ๆ เช่น ในส่วนของรัฐฉานมีอำนาจอนุมัติ โครงการลงทุนไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ รัฐมนตรีสามารถอนุมัติได้

สำหรับสิทธิพิเศษที่ได้รับแบ่งตามระยะเวลาการลงทุนในพื้นที่ใกล้และไกล หากลงทุนในพื้นที่ไกลจะได้รับสิทธิพิเศษมากตามลำดับ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เช่น เกษตร ในเมืองตองยี (เมืองหลวง) ภูมิประเทศตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,500 เมตร อากาศดี ส่งผลดีต่อผลผลิตทางการเกษตร มีความอุดมสมบูรณ์ เช่น กาแฟ ชา ข้าว มีความบริสุทธิ์ ซึ่งขณะนี้ ญี่ปุ่น เกาหลี เข้าไปลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปพืชผักออร์แกนิก นอกจากนี้มีความเหมาะสมที่จะลงทุนธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่ที่สามารถพัฒนาและลงทุนได้อีกมาก เช่น ทะเลสาบอินเล เป็นทะเลสาบน้ำจืดตั้งอยู่ในรัฐฉาน ถือเป็นมัลดีฟของเมียนมาที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดี

จากการลงพื้นที่ที่ผ่านมา เมียนมาต้องการให้ไทยเข้าไปลงทุนภาคบริการ เช่น โรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียนอินเตอร์ นอกจากนี้ต้องการให้ลงทุนนิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า และอุตสาหกรรมแปรรูปผักผลไม้เมืองหนาว เป็นต้น

“โรงไฟฟ้าโซลาร์” พลิกรัฐฉาน

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐบาลไทยจัดคณะไปโรดโชว์ที่รัฐฉานครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทในเครือของ กฟภ. ให้ความสนใจเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าในรัฐฉานมาก และได้ลงสำรวจพื้นที่ 2-3 รอบแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดูในรายละเอียด เช่น รูปแบบการลงทุน ประเภทของโรงไฟฟ้า และจะลงพื้นที่สำรวจอีกรอบในเร็ว ๆ นี้

ก่อนจะยื่นขออนุญาตตามกฎหมายการลงทุนของรัฐ หากโครงการขนาดไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 150 ล้านบาท น่าจะทำได้ทันที

เบื้องต้นการลงทุนผลิตโรงไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เห็นผลเร็วที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วย ซึ่งทางรัฐบาลเมียนมาเห็นว่าควรผลิตและจำหน่ายในระดับไม่เกิน 4 บาทต่อยูนิต ปัจจุบันเมียนมาพยายามลงทุนเนชั่นแนลกริด ซึ่งน่าจะมีราคายูนิตละ 35 จ๊าต หรือไม่ถึง 1 บาท ซึ่งต้องการให้ไทยลงทุนในฉานตะวันออก เช่น เมืองเชียงตุง หรือฉานตอนใต้

อนาคตหากมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้น จะพลิกอุตสาหกรรมการลงทุนในรัฐฉานให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะทุกวันนี้อุตสาหกรรมไม่คืบหน้าเพราะไฟฟ้าไม่พอ ส่วนไฟฟ้าที่ผลิตจากเมืองอื่นส่งมา เช่น เมาะลำไย ถือว่าระยะทางไกลเกินไป