ยศธน กิจกุศล การ์เมนต์ไทยบุกนิคมจีนหนีค่าแรงพุ่ง

หลายปีที่ผ่านมาภาพรวมการส่งออกเครื่องนุ่งห่มของประเทศไทยปรับตัวลดลง เหตุผลสำคัญมาจากการขยายฐานการลงทุนออกไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งมีต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่าไทย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่รับจ้างผลิต (OEM)

“นายยศธน กิจกุศล” อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงทิศทางการส่งออกในปี 2560 คาดว่าจะลดลงไม่เกิน 8% แต่น่าจะอยู่ในเกณฑ์ 2,000 ล้านเหรียญขึ้นไป ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปีก่อน ส่วนแนวโน้มการส่งออกปี 2561 คาดหวังว่าจะเสมอตัว ถ้าโพซิทีฟอาจบวก 3-5%

Q : สาเหตุที่การส่งออกลดลง

ปัจจัยหลักเป็นผลจากสมาชิกเราย้ายฐานการผลิตเข้าไปในประเทศอาเซียน (เออีซี) ประเมินคร่าว ๆ น่าจะมีประมาณ 20 โรงงาน จึงทำให้ยอดที่ส่งออกจากฐานการผลิตในอาเซียนน่าจะสูงกว่ายอดส่งออกจากไทยที่ปรับลดลงไป จึงไม่น่าห่วงกับตัวเลขที่ลดลง

Q : ปีนี้โรงงานยังออกไปลงทุนต่อ

ก็มี หลายรายดูทิศทางค่าแรงงานเป็นหลักทั้งค่าแรงของไทย และประเทศเป้าหมายที่จะเข้าไปลงทุน การที่ค่าแรงขึ้นสูงมาก OEM ลำบากมากขึ้น เพราะผู้ซื้อสินค้า OEM ต้องการราคาถูกเป็นหลัก จึงขยายแหล่งลงทุนออกไป ปีนี้เมียนมายังน่าสนใจลงทุน แม้จะมีความท้าทายจากหลายปัจจัย เช่นค่าเช่าที่ดิน จากที่ตนเข้าไปร่วมทำธุรกิจที่เมียนมาเห็นว่าผู้ผลิตการ์เมนต์ที่นั่นเพิ่มขึ้นจาก 100 เป็น 500-600 ราย มีทั้งไต้หวัน สิงคโปร์ จีน เกาหลี และอีกหลายประเทศ แต่ยังขาดโรงสิ่งทอ (textile) ซึ่งไม่ต่างจากเวียดนามในช่วงเริ่มต้น

ส่วนโรงงานการ์เมนต์ (เสื้อผ้า)ในเมียนมายังมีประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ต้องตรวจสอบหลายรอบและตรวจสอบ 100% ผมว่ามูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยควรไปช่วยพัฒนาฝีมือแรงงานให้โรงงานไทยในเมียนมาเพื่อผลดีในระยะยาว นอกจากนี้ ไทยต้องพัฒนานวัตกรรมสร้างตัวสินค้า เพราะตลาดเมียนมาเริ่มมีโลคอลแบรนด์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก การแข่งขันก็มีมากขึ้น

Q : โอกาสการพัฒนาแบรนด์ไทย

โมเดลการทำแบรนด์ของไทยไม่เหมือนในยุโรป หรือจีน ซึ่งเขาจะทำสินค้าตัวอย่างขึ้นมา 100-200 ตัว แล้วนำไปออกงานแสดงสินค้า ให้ลูกค้าสั่งซื้อแล้วค่อยไปผลิตแล้วกำหนดระยะเวลาส่งมอบ ระบบไม่เหมือนกันดังนั้น ระบบแบรนด์ของไทยเสี่ยงเรื่องสต๊อก แบบไม่ผ่านการกรองจากผู้ซื้อ เราคาดการณ์เอาเอง

Q : การพัฒนาสินค้าแฟชั่นไทย

หลายคนหันมาเน้นตลาดในประเทศมากขึ้น แต่ตลาดในประเทศมีไซซ์ไม่ใหญ่ ชดเชยส่งออกไม่ได้ ถ้าเทียบกับจีนซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก มีประชากรเป็นพันล้านคนต่างจากไทยโดยสิ้นเชิง เราจึงพยายามสร้างความร่วมมือกับจีน

ล่าสุดผมไปประชุม Fashion Asia Conference ที่ประเทศจีน ในนามกลุ่ม ASIA Fashion Federation ซึ่งมีสมาชิก 6 ประเทศ คือ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม การประชุมทำให้รู้ว่าตอนนี้ดีไซเนอร์ในจีนหันกลับมาผลิตในไทยแล้วส่งกลับไปขายที่จีน เพราะค่าแรงพอกัน โรงงานไทยมีคุณภาพ และเทรนด์การขายออนไลน์ในจีนมีอัตราการเติบโตสูงขึ้น

ดังนั้น หากไทยสามารถผูกกับจีนได้ก็เป็นช่องทางหนึ่ง เพราะตลาดส่งออกอื่น ๆ ของไทย เช่น สหรัฐ ยุโรปก็ลดลง แต่ยอดส่งออกไปจีน ฮ่องกง เพิ่ม 20-30% โดยเฉพาะเสื้อผ้าสตรี แม้ว่า วอลุ่มไม่มากแต่เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ

Q : ไฮไลต์การประชุมที่จีน

จีนนำเสนอโครงการ “Fashion City” หารือกันว่าจะมีความร่วมกันอย่างไร นโยบายของรัฐบาลจีนมุ่งสนับสนุนการลงทุนให้ 30% จุดประกายให้เกิดสาธารณูปโภคหลัก (core facility)ที่สำคัญ ที่จะเป็นแม็กเนตดึงดูดการลงทุน และที่เหลือเป็นเอกชน 70% รูปแบบการลงทุน fashion city เป็นไปได้ทั้งการขอให้นิคมที่จีน จัดสรรพื้นที่ให้เอกชนไทยที่มีแบรนด์นำไปเสนอเพื่อจัดจำหน่ายในจีน เพราะเฟสแรกเป็นการจัดนิทรรศการ (exhibition) ซึ่งยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตอนนี้มาร์เก็ตแชร์ในจีนมีน้อยไม่ถึง 2 หลัก ไทยมีจุดแข็งเรื่องประสิทธิภาพการผลิตดี ความสามารถฝีมือแรงงานดี  หรืออีกทางรัฐบาลอาจนำโมเดลนี้มาปรับใช้ในไทย เพื่อดึงดูดนักลงทุนก็ได้