ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มิ.ย. 65 ฟื้นตัวครั้งแรกรอบ 6 เดือน

ดัชนีท่องเที่ยว
ภาพจาก Jack TAYLOR / AFP

หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 65 อยู่ที่ระดับ 41.6 เป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ผลจากมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะฟื้นมาตรการผ่อนคลายต่าง ๆ

วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนมิถุนายน 65 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41.6 จากเดือนพฤษภาคม 65 อยู่ที่ระดับ 40.2 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวขึ้นเล็กน้อย จากสถานการณ์โควิดและมาตรการผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้ ประกอบกับมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้น แม้จะมีความกังวลในสถานการณ์ราคาน้ำมันก็ตาม

ธนวรรธน์ พลวิชัย
ธนวรรธน์ พลวิชัย

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 35.7 ปรับขึ้นมาจาก 34.3 ในเดือนพฤษภาคม 65 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 39.2 ปรับขึ้นมาจาก 37.8 ในเดือนพฤษภาคม 65 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 49.8 ปรับขึ้นมาจาก 48.5 ในเดือนพฤษภาคม 65 ที่ผ่านมา แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ดีดัชนีความเชื่อมั่นยังต่ำกว่าระดับปกติ

สำหรับปัจจัยบวกที่หนุนดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ, การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของทั้งโลกเพิ่มขึ้นเป็นรูปธรรม, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, กนง.ปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 65 เป็น 3.3% จากเดิม 3.2%, การส่งออกในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 10.47% และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วย ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภคยังกังวลการระบาดของไวรัสโควิด, ปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าแพง, ความกังวลเรื่องผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า และค่าเงินบาทอ่อนค่า

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมองว่า ครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้นโดยหอการค้าไทยประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2565 อยู่ในกรอบ 2.5-3.5% หรือเฉลี่ย 3.1% ขณะที่ไตรมาส 3 มองการขยายตัวเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 4.1% และไตรมาส 4 ขยายตัว 3.8% โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น

โดยมองว่าครึ่งปีหลังจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 6-8 ล้านคน และจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ส่งผลทำให้ธุรกิจกลางคืนเริ่มกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้มีเงินสะพัดเฉลี่ย 50,000 ล้านบาทต่อเดือน จึงส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนการส่งออกของไทยคาดว่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 5-7% ส่วนปัญหาเงินเฟ้อหอการค้า มองอยู่ในกรอบที่ 5.5-6.5% ทั้งปี คาดว่าอยู่ที่ 6.2% โดยเฉลี่ยครึ่งปีหลังประเมินไว้อยู่ที่ 6.7% ทั้งนี้ ยังมองว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกคงไม่ทะลุไปที่ 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยมองว่าจะเฉลี่ยอยู่ประมาณ 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยเอกชนจะต้องมีการปรับตัวและลดต้นทุน

สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ทะลุ 36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ปัจจัยมาจากเรื่องของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐจึงมองว่าจะขึ้นไปจนถึง 3.25% ขณะที่ประเทศไทยคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งต่อเนื่องจนไปถึงอยู่ที่ระดับ 1.25% จากปัจจุบัน 0.5% ส่วนค่าเงินบาทของไทยจากนี้ 1-3 เดือนจะยังคงทรงตัวอยู่ที่ 36-36.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และไตรมาส 4 คาดว่าเฉลี่ยอยู่ 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ