JP ลุ้นใบอนุญาตสกัดกัญชา 3 หมื่นกิโล ผลิตยาสิ้นปี’65

กัญชา
FILE PHOTO : Lillian SUWANRUMPHA / AFP

“โรงงานเภสัช อุตสาหกรรม เจเอสพี” หรือ JP เตรียมยื่นขอใบอนุญาตสกัดกัญชา กัญชง กำลังการผลิต 30,000 กก./เดือน ลุ้นผลิตยาแผนปัจจุบัน สมุนไพร สิ้นปี 2565 ตั้งโรงงานที่ลำพูน 500 ล้านบาท พร้อมผุดไอเดียปั้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ผ่านโครงการ ‘Z entrepreneur by JP’ ส่ง “มาโว่ มารีน คอลลาเจน” (MAWO) แจ้งเกิดตลาดอาหารเสริมตั้งเป้ายอดขาย 10 ล้านบาท

วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 นายพิษณุ แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการขายและการตลาด บริษัท โรงงานเภสัช อุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JP เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้บริษัทเตรียมยื่นขอใบอนุญาตสกัดสารจากกัญชา กำลังการผลิต 30,000 กิโลกรัม/เดือน หลังจากโรงงานเฟสแรก (ขนาดเล็ก) ที่ จ.ลำพูน จะเริ่มผลิตอาหารเสริมภายในไตรมาส 3/2565 นี้

โดยขณะนี้ อย.อยู่ระหว่างดูผลกระบวนการต่าง ๆ เช่น มาตรฐาน GMP จากนั้นจึงจะยื่นขอเรื่องของกัญชา กัญชงเพิ่มเติม คาดว่าจะผลิตเป็นยาแผนปัจจุบันและสมุนไพรปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 ซึ่งเป็นการลงทุนกว่า 500 ล้านบาท

ทั้งนี้ JP ได้ทำโครงการ ‘Z entrepreneur by JP’ ซึ่งเป็นโครงการที่ผลักดันให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เช่น สินค้าด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สินค้าโอทอป และสมุนไพรต่าง ๆ ที่ต้องการโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP ที่ได้มาตรฐานส่งออก แต่ไม่มีเงินลงทุนในการซื้อเครื่องจักร ก็สามารถเข้ามาปรึกษากับ JP เพื่อสร้างสินค้าที่ได้มาตรฐาน

ซึ่งในโครงการนี้ JP ได้เป็นพี่เลี้ยงในการวิเคราะห์ธุรกิจ การทำแผนธุรกิจ ด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงยังให้คำปรึกษาด้านบรรจุภัณฑ์ และการขออนุญาตขึ้นทะเบียน อย. โดยโครงการนี้ได้เริ่มต้นขึ้นจากการระบาดของโรค covid-19 ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้รับความสนใจจากทั่วโลก จึงมีคนรุ่นใหม่เกิดความต้องการที่จะเข้ามาเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจเหล่านี้แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ยังขาดความรู้ และขาดคำแนะนำที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้จริง ดังนั้น JP จึงได้เปิดตัวโครงการนี้ขึ้นมา

หลังจากเปิดตัวโครงการมีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมโครงการ 7 ราย โดย MAWO เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ JP ให้การสนับสนุนจนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์เกิดขึ้นได้จริง จึงเป็นตัวอย่างของผู้ที่ต้องการสร้างแบรนด์อาหารเสริมของตนเอง โดยที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก แต่สามารถสร้างสินค้าที่ได้มาตรฐาน และสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้

ซึ่งมองว่าการสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ขึ้นมาแข่งขันในตลาดนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะปัจจุบันคนรุ่นใหม่จะเข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ โดยในโครงการนี้ JP จำกัดจำนวนผู้ประกอบการรายเล็กที่ต้องการเข้ามาร่วมโครงการปีละ 10 ราย เพื่อให้เป็นโครงการที่มีการดูแลอย่างใกล้ชิดและมีคุณภาพ

อย่างไรก็ดีนอกจากโครงการ ‘Z entrepreneur by JP’ ยังมีอีกหนึ่งโครงการคือ Economy sharing ที่ JP ได้ทำขึ้นในช่วงเกิดวิกฤต covid-19 ด้วยการทำให้ภาคธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวกับโรงงานผลิตยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง ส่งผลให้ภาคผู้ผลิตที่เป็นโรงงานขนาดเล็ก มีความเสี่ยงต้องปิดกิจการชั่วคราว หรือปิดโดยไม่มีกำหนด เกิดการรวมกลุ่มใช้ทรัพยากรร่วมกัน ด้วยการเปิดบริการรับจ้างผลิตสินค้าให้กับโรงงานขนาดเล็ก เพื่อให้โรงงานขนาดเล็กไม่ต้องปิดกิจการ สามารถรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าได้ตามปกติ แต่ไม่ต้องแบกรับต้นทุนด้วยการดำเนินการผลิตเอง เพราะหากคำสั่งซื้อมีปริมาณไม่มากพออาจจะไม่คุ้มทุนกับการผลิตเอง และเสี่ยงต่อการปิดกิจการในที่สุด

นางสาวณัฐณิชา ดอนสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาโว่ เฮลธ์ จำกัด (MAWO) กล่าวว่า ปัญหาของผู้ประกอบการรายเล็กคือ การมีต้นทุนจำกัดในการลงทุนเครื่องจักรที่ได้มาตรฐานระดับสากล การเข้ามาร่วมโครงการกับ JP จึงทำให้ธุรกิจสามารถเป็นจริงได้ง่ายขึ้น โดยใช้เงินลงทุนไม่มาก อีกทั้งได้รับคำแนะนำ และผ่านการอบรมทั้งด้านงานขาย การเข้าถึงสื่อออนไลน์ การวิเคราะห์ธุรกิจ เป็นต้น

ส่วนแนวคิดการทำธุรกิจของ MAWO นั้น เกิดจากการศึกษาตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี ทำให้เห็นทิศทางการเติบโตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในยุคของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เป็นอีกปัจจัยสนับสนุนหนึ่งที่ทำให้สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นที่ต้องการมากขึ้น ดังนั้น MAWO จึงมองหาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงวัย

ซึ่ง “คอลลาเจน” เป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ เพราะไม่ได้ช่วยแค่เรื่องผิวพรรณ แต่ยังช่วยเรื่องกระดูกและข้อ และเป็นสินค้าที่มีทิศทางการเติบโตของตลาดเพิ่มขึ้นทุกปี จากที่ได้ทำการศึกษาพบว่าในปี 2564 ตลาดคอลลาเจนเปปไทด์ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 624.0 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะเพิ่มเป็น 932.7 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2571 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 5.91% ในแต่ละปี หรือคิดเป็น ประมาณ 30,000 ล้านบาท

เนื่องจากสัดส่วนโครงสร้างประชากรทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ในขณะที่ประเทศไทยตลาดวิตามินและอาหารเสริมปี 2563 มีมูลค่า 25,269 ล้านบาทที่เติบตัวเลขเฉลี่ย 8% โดยตลาดที่กินส่วนแบ่งมากที่สุดคือ ตลาดคอลลาเจน

“มาโว่ มารีน คอลลาเจน” จึงเป็นสินค้าตัวแรกของแบรนด์ MAWO เพราะตอบโจทย์ความต้องการของทั้งวัยทำงานและผู้สูงวัย อย่างไรก็ดีในอนาคต MAWO มีแผนที่จะขยายธุรกิจไปสู่สินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่น ๆ เช่น วิตามินต่าง ๆ โดยภายในปีหน้า จะเริ่มมีสินค้าประเภทอื่นนอกจากคอลลาเจนออกจำหน่าย ซึ่งสินค้าลำดับต่อไปของ MAWO ก็จะร่วมพัฒนาและผลิตที่โรงงานของ JP เช่นเดิม

สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายของ MAWO นั้น จะเน้น ช่องทางออนไลน์ และโซเชียลคอมเมิร์ซ เป็นหลัก และมีการจำหน่ายผ่านตัวแทนบางส่วน โดยแบ่งสัดส่วนเป็น 70:30 โดยในปีแรกตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 10 ล้านบาท และตั้งเป้าจะเติบโตเป็น 20 ล้านบาทในปีต่อไป เนื่องจากจะมีสินค้าหลากหลายประเภทมากขึ้น โดยสินค้าทุกประเภทจะยังคงอยู่ในแนวคิด “สินค้าคุณภาพระดับพรีเมี่ยม แต่ราคาเข้าถึงง่าย”