อีอีซี ตั้งเป้าผลิตน้ำจืดจากทะเล ใน 5 ปี ผลิตได้ 200,000 ลบ.ม.ต่อวัน

อีอีซี ร่วมกับ สทนช. สถาบันขนส่งจุฬาลงกรณ์ฯ ตั้งเป้าติดตั้งระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล 2 แห่ง นิคมฯ มาบตาพุด-เมืองพัทยา คาดในอีก 5 ปีต้องผลิตน้ำจืดไม่น้อยกว่า 200,000 ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อสร้างความมั่นคงแก่นักลงทุน

วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2565

โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธาน ประชุม ว่า อีอีซีได้รายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมได้รับทราบ โดยเฉพาะการผลิตน้ำจืดจากทะเลที่จำเป็นต้องมีเพียงพอขาดแคลนไม่ได้ที่มาบตาพุดและพัทยา

โดยที่ประชุม กพอ. รับทราบ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะล (Desalination) ในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีเพื่อสร้างความมั่นคงต่อทรัพยากรน้ำที่จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเข้าสู่ระบบทั้งเพื่อการบริโภค ภาคเกษตรและการผลิตในอุตสาหกรรม โดยอีอีซี ได้ศึกษาร่วมกับ สทนช. และสถาบันขนส่งจุฬาลงกรณ์ฯ ถึงพื้นที่เป้าหมายในการติดตั้งระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล 2 แห่ง ได้แก่

นิคมฯ มาบตาพุด และเมืองพัทยา ซึ่งคาดว่าในอีก 5 ปีหรือปี 2570 จะมีความจำเป็นต้องผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลบริเวณมาบตาพุด ไม่น้อยกว่า 200,000 ลบ.ม.ต่อวัน

ทั้งนี้ เพื่อรองรับการใช้ในพื้นที่ อีอีซี และในปี 2580 จำเป็นต้องผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ไม่น้อยกว่า 300,000 ลบ.ม และเมื่อรวมกับแหล่งน้ำสำรอง รวมถึงบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จะทำให้อีอีซี มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้ในภาพรวม ทั้งนี้ การดำเนินการต่อไป อีอีซี สทนช. กนอ. และเมืองพัทยา จะร่วมกันหารือถึงแนวทางดำเนินการ การคัดเลือกเทคโนโลยี รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อขับเคลื่อนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลได้อย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับการพัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับ (UAS Ecosystem) หรือ “โดรน” ในพื้นที่อีอีซี โดยบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ได้จัดทำแนวทางการพัฒนาที่จะเกิดการใช้ประโยชน์ครบมิติ อาทิ ด้านการเกษตร การถ่ายภาพ การขนส่งสินค้าและคน การสำรวจความปลอดภัย อีกทั้งจะขยายศักยภาพต่อยอดในด้านอื่นๆ

มติ กพอ.

โดยประเทศไทยคาดว่าจะมีการใช้โดรนมากถึง 700,000 ลำ ในเวลา 5 ปี และกว่า 80% จะใช้งานในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะสร้างประโยชน์ และพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตามแนวคิดการสร้างเมืองการบิน (Aerotropolis) เชื่อมโยงระบบคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานหลัก เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขนส่ง ลดต้นทุน ลดเวลา รวมทั้งต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมการผลิต และการแพทย์ครบวงจร เพื่อยกระดับการให้บริการและร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ New S Curve ในพื้นที่อีอีซี

แนวทางการพัฒนา โดรน ในพื้นที่อีอีซี ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่

1) จัดการจราจรและบริหารห้วงอากาศ ผลักดันให้เกิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อีอีซี ลดขั้นตอนการประสานหลายหน่วยงาน

2) ฝึกอบรมนักบินโดรน พัฒนาศูนย์ฝึกอบรมหลักสูตรที่รับรองจากสำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) เกิดการจ้างงานและพัฒนาทักษะบุคลากรที่เชี่ยวชาญ

3) ให้บริการและพัฒนาท่าอากาศยานในพื้นที่ สนับสนุนให้บริการเชิงพาณิชย์อื่น ๆ เช่น ขนส่งสินค้า ขนส่งคน พัฒนาท่าอากาศยานโดรน รองรับการขนส่งคนในอนาคต

4) ผลิต ซ่อมบำรุง และตรวจสอบมาตรฐาน พัฒนาสู่ศูนย์กลางบริการอย่างเป็นทางการได้รับมาตรฐานของผู้ผลิตรายใหญ่

5) ส่งเสริมนวัตกรรม ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ พร้อมพัฒนาสนามทดสอบ เป็นพื้นที่ผ่อนปรนทางกฎหมาย และสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กพอ. ได้รับทราบความก้าวหน้าเรื่อง จีโนมิกส์ (Genomics) ซึ่ง สกพอ. ได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และบริษัท โรช ประเทศไทย จำกัด (Roche) จัดตั้งศูนย์ทดสอบระดับสากลสำหรับ “การตรวจยีนมะเร็งแบบครอบคลุม” และศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ รักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิด non small cell ระยะลุกลามด้วยการแพทย์แม่นยำ

ช่วยให้คนไทยได้เข้าถึงการรักษาที่แม่นยำ ลดอัตราการสูญเสียจากโรคมะเร็ง คนไทยได้เข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีด้านการแพทย์ชั้นสูง และยกระดับบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างยั่งยืน

นายคณิศ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานหลัก ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน (PPP) ได้แก่

1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา งานสาธารณูปโภครื้อเสร็จและรฟท. ได้พื้นที่ครบ 100% เอกชนเข้าพื้นที่เตรียมก่อสร้าง เช่น งานสร้างถนน งานก่อสร้างโรงหล่อชิ้นงานโครงสร้าง ดำเนินการแล้วเสร็จ และเริ่มก่อสร้างต่อเนื่อง โดยส่วนเชื่อมสุวรรณภูมิ ถึงอู่ตะเภา คาดว่าจะเปิดบริการปี 2569

2) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ส่วนภาครัฐ กองทัพเรือได้ออกแบบทางวิ่งที่ 2 เสร็จเรียบร้อย งานปรับถมดินลานจอดศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแล้วเสร็จ 100% และงานปรับถมดินทางวิ่งที่ 2 ก้าวหน้าเกิน 80% และเอกชนคู่สัญญาเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจและเตรียมก่อสร้างแล้วตามแผนงาน

ในส่วนของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ EHIA ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำประชาพิจารณ์ในเดือนสิงหาคม และการปรับปรุงรายงานเพื่อนำเสนอ ครม. เดือนกันยายน 2565

โดยการก่อสร้างโครงการฯ ระยะที่ 1 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งจะสอดคล้องกับฟื้นตัวการเดินทางทางอากาศเพื่อท่องเที่ยวทั่วโลก ที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องหลังจากนี้ ภายหลังสถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลาย

3) โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เริ่มงานออกแบบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และงานออกแบบท่าเรือก๊าซแล้ว และขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และช่วงงานถมทะเล โดยได้จัดตั้งมูลนิธิกองทุนฯ ชดเชยผู้ได้รับผลกระทบตามข้อกำหนด EHIA เรียบร้อย สำหรับท่าเรือมาบตาพุด ช่วงที่ 1 ท่าเรือสินค้าเหลวและพื้นที่คลังสินค้า คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569

4) โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เริ่มต้นการก่อสร้างงานทางทะเล และการจัดทำ EHIA สำหรับท่าเทียบเรือ F จะอนุมัติภายในเดือนสิงหาคม 2566 โดยงานสาธารณูปโภคและท่าเทียบเรือ F1 คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2568 อีอีซี พร้อมผลักดันทุกโครงการดำเนินการลงทุนได้ตามแผน และทำหน้าที่ประสานความร่วมมือหน่วยงานเจ้าของโครงการ และเอกชนคู่สัญญา ให้การก่อสร้างทุกโครงการ เสร็จตามแผน เพื่อประโยชน์ประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ

มติ กพอ.

ส่วนการผลักดันใช้เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง คนไทยเข้าถึงรักษาด้วยยีนบำบัด ปลอดภัยโรคธาลัสซีเมียที่ประชุม กพอ. รับทราบ การยกระดับบริการด้านยีนบำบัด (Gene theapy) สำหรับโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางทางกรรมพันธุ์ที่พบได้บ่อยในคนไทยและมีค่าใช้จ่ายสูงในการดูแลต่อเนื่อง เป็นภาระของผู้ปกครอง ครอบครัว และประเทศ ปัจจุบันมีโอกาสรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดได้ด้วยยีนบำบัด แต่ยังอยู่ในระยะวิจัยทางคลินิกและคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้เทคโนโลยี ยีนบำบัดโรคธาลัสซีเมียมีต้นทุนที่เหมาะสม และประชาชนไทยสามารถเข้าถึงได้ สกพอ.มีความยินดีที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาและผลิตยีนบำบัดในไทย และจะเตรียมพื้นที่สำหรับบริษัทที่ประสงค์จะลงทุนก่อสร้างศูนย์ผลิตอีกด้วย โดยสำหรับภาคเอกชนนั้น BGI Research แสดงความสนใจที่จะมาดำเนินการวิจัยทางคลินิกสำหรับผลิตภัณฑ์ยีนบำบัดเพื่อรักษาโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทย ซึ่ง สกพอ. จะได้ช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป