“สินิตย์” โชว์ผลงาน 1 ปี สำเร็จตามเป้าทุกด้าน เตรียมลุยต่องานเดิม

แถลงผลการทำงาน 1 ปี

“สินิตย์”แถลงผลการทำงาน 1 ปี ชูภารกิจขับเคลื่อนงานที่รับผิดชอบ 5 ด้าน สำเร็จตามเป้าทุกด้าน เตรียมลุยต่องานเดิม เพิ่มความเข้มข้นทั้งเชิงรุก เชิงลึก

วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการทำงานในช่วง 1 ปี หลังได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 ว่า การทำงานที่ผ่านมา ได้ปฏิบัติตามนโยบายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบนโยบายการทำงาน ให้หน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงพาณิชย์รับไปปฏิบัติ

โดยมีนโยบายเร่งด่วนรวม 14 ข้อ ได้แก่ การประกันรายได้, ลดค่าครองชีพ, เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด, อาหารไทยอาหารโลก, การค้าออนไลน์, ส่งเสริมธุรกิจบริการ, พัฒนาเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี, เร่งรัดการส่งออก, ผลักดันการค้าชายแดน, เจรจาการค้าระหว่างประเทศ, จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา, บริการด้วยอิเล็กทรอนิกส์, ทำงานร่วมกับภาคเอกชนในนาม กรอ.พาณิชย์ และให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ซึ่งในส่วนงานที่รับผิดชอบ 3 กรม

ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และ 3 องค์การมหาชน ได้แก่ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา สามารถขับเคลื่อนการทำงานให้เป็นไปตามนโยบายและประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

โดยผลการดำเนินการ สามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วนได้หลายเรื่อง มีผลการดำเนินงานใน 5 ด้านหลัก ได้แก่

  1. ด้านการสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการ
  2. ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
  3. ด้านการขยายโอกาสทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการ
  4. ด้านการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพ
  5. ด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจและประชาชน

แถลงผลการทำงาน 1 ปี

ด้านการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ

ได้เน้นการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับธุรกิจลดต้นทุน เช่น การส่งเสริมธุรกิจโลจิสติกส์สู่มาตรฐาน ISO 9001 ซึ่งช่วยได้แล้ว 1,338 ราย การผลักดันร้านอาหาร Thai SELECT ได้แล้วกว่า 1,000 ร้าน

การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า การคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ถูกละเมิดในต่างประเทศ การเร่งพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับการผลักดันให้เกษตรกร ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการทำตลาดต่างประเทศ และยังให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ซึ่งได้มีการส่งดำเนินคดีแล้ว 66 ราย เป็นต้น

ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

ได้ผลักดันการจัดตั้งชุมชนอัจฉริยะออนไลน์ทั่วประเทศ ขณะนี้มีอยู่ 34 ชุมชน 30 จังหวัด และกำลังเพิ่มอีก 21 ชุมชน จัดให้มีแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”สร้างโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าเกษตรมาพบกัน ในรูปแบบ B2B ร่วมมือกับภาคธุรกิจรายย่อยในพื้นที่จัดตั้งเครือข่ายธุรกิจม็อคบิสคลับ (MOC Biz Club)

ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 13,173 ราย ผลักดันเปิดด่านเชียงคาน จ.เลย เป็น “เชียงคานแซนด์บอกซ์” เชื่อมโยงการท่องเที่ยวระดับประเทศ ยกระดับสินค้าชุมชนและเพิ่มมูลค่าด้วย สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ จีไอ (GI)

ปัจจุบันขึ้นทะเบียนครบทุกจังหวัดแล้ว 158 สินค้า สร้างมูลค่าตลาดมากกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท ส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยต่อยอดมูลค่าเชิงพาณิชย์ โดยจัดงานทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ สร้างมูลค่ามากกว่า 176 ล้านบาท ลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านการสร้างมาตรฐานสินค้าและการบริหารจัดการธุรกิจ และรวบรวมองค์ความรู้ศิลปหัตถกรรมไทยในรูปแบบ บิ๊กดาต้า (Big Data) มากกว่า 50 จังหวัด ครอบคลุมชิ้นงานกว่า3,000 รายการ

ด้านการขยายตลาดไปต่างประเทศ

ได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ (FTA)ฉบับต่าง ๆ โดยเฉพาะความตกลง RCEP ที่มีผลบังคับเมื่อต้นปี โดยไตรมาสแรกมีผู้ใช้สิทธิ์มูลค่าถึง 124 ล้านเหรียญสหรัฐ ร่วมประชุมหารือกับประเทศคู่ค้าของไทย

เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน ขยายการส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศ สร้างความเชื่อมั่นคู่ค้า ด้วยการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและจัดพิธีทำลายของกลางกว่า 6 แสนชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท

ส่งผลให้สหรัฐ ประกาศไทย ไม่มีตลาดละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และคงให้ไทยอยู่ในบัญชี Watch List – WL ปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ สนับสนุนนโยบาย Soft Power ของรัฐบาลด้วยทรัพย์สินทางปัญญา จัดทำแพลตฟอร์ม ศักดิ์สิทธิ์ช๊อป (SACIT Shop) ขายงานศิลปหัตถกรรมไทยทางออนไลน์

ทั้งเว็บไซต์และโมบายแอพพลิเคชัน สร้างมาตรฐานอัญมณีไทยให้เป็นที่ยอมรับ ภายใต้โลโก้ GIT Standard และผลักดันให้ห้องปฏิบัติการตรวจสอบของไทยมีมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งได้ศึกษาโอกาส ปัญหา อุปสรรค เกี่ยวกับนโยบายการค้าทั่วโลก รองรับการขยายตลาดสินค้าไทย เช่น นโยบาย One Belt One Road ของจีน ทิศทางการค้าในกลุ่มบิม-ส-เทค ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ไทย สหภาพเมียนมา เนปาล และภูฏาน

ด้านการติดอาวุธการค้าฝ่าวิกฤต

ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร จัดกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยและลดค่าครองชีพประชาชน เช่น กิจกรรม “ซื้อง่าย ถูกใจ ใกล้ชุมชน” จำหน่ายสินค้าราคาประหยัดผ่านร้านค้ากองทุนหมู่บ้านกว่า 3,500 แห่งทั่วประเทศ ร่วมมือกับโมเดิร์นเทรด อาทิ เอ็มบีเค ท้อปส์มาร์เก็ต และตลาดจริงใจฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต ในเครือเซ็นทรัล

เปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้า GI ผลักดันผู้ประกอบการสู่ตลาดออนไลน์ อาทิ ช้อปปี้ ลาซาด้า ท้อปส์ออนไลน์ เป็นต้น กระตุ้นผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูป เช่น น้ำมันมะพร้าว เฟอร์นิเจอร์ยางพารา อาหารทะเลแปรรูป ผ้าบาติก และผลไม้ ใช้ประโยชน์จาก FTA และ RCEP

ให้ความรู้และพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมให้สอดคล้องกับความต้องการผู้ประกอบการผลิตอัญมณีในจังหวัดจันทบุรี และผลักดันให้เป็นนครอัญมณีโลก การจัดเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรีมีผู้สนใจทั้งชาวไทยและต่างชาติ ร่วมงานถึง 11,480 คน มูลค่าการซื้อขายภายในงาน 64.83 ล้านบาท และเงินสะพัดในจังหวัดจันทบุรีกว่า 220 ล้านบาท

ลงพื้นที่พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเครื่องประดับเครื่องเงินภาคเหนือเชื่อมโยงอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เตรียมความพร้อมนักลงทุนไทยเดินทางไปเปิดตลาดต่างประเทศเสริมทักษะความรู้ที่จำเป็นข้อปฏิบัติและข้อห้ามทางการค้าต่าง ๆ

ด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจและประชาชน

ได้เปิดโอกาสให้ใช้ข้อมูลจาก ดีบีดี ดาต้า แวร์เฮ้าส์ พลัส (DBD Data Warehouse+) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบก่อนการตัดสินใจลงทุน ขยายการให้บริการลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์บนหนังสือรับรองและสำเนาเอกสารทางทะเบียนของนิติบุคคลแทนการลงนามด้วยปากกาทั่วประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ลดระยะเวลาการให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา รูปแบบ สมาร์ท ดีไอพี (Smart DIP)

เช่น ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ จาก 45 วัน เหลือ 2 วัน ออกหนังสือสำคัญจดทะเบียนสิทธิบัตรรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จาก 60 วัน เหลือ 15 วัน ต่ออายุเครื่องหมายการค้า จาก 60 วัน เหลือ 30 นาที และการพิจารณาคำขอเครื่องหมาย จาก 12 เดือน เหลือ 6 เดือน รวมทั้งร่วมมือกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น จีนและกัมพูชา เป็นต้น

และจัดทำคู่มือ “คัมภีร์พิชิต IP แดนมังกร” เป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการไทยใช้ยื่นจดเครื่องหมายการค้าในจีน ยกย่องเชิดชูผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปัจจุบันได้รับการยกย่องเชิดชูแล้วกว่า 413 ราย ตรวจสอบค่าความบริสุทธิ์ของทองคำผ่านมาตรฐานการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพจาก GIT สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อและผู้ขายทองคำผ่านโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy With Confidence) ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 500 ราย

นายสินิตย์กล่าวว่า สำหรับงานที่จะดำเนินการเพิ่มเติมจากนี้ไป จะให้ความสำคัญกับการสานงานเดิม โดยเพิ่มความเข้มข้น ทั้งเชิงรุก เชิงลึก โดยการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ จะลงพื้นที่พบปะกับเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อชักชวนให้ใช้ประโยชน์จาก FTA ผลักดันการยกร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งกองทุน FTA

การลงพื้นที่ร่วมกับ GIT พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอัญมณี การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน ทางปัญญา การคัดสรรและเชิดชูผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมและการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย

ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

จะผลักดันการขึ้นทะเบียนสินค้า GI เพิ่มขึ้น เร่งจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า และผลักดันจดทะเบียนในต่างประเทศ อาทิ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง สับปะรดห้วยมุ่น ในญี่ปุ่น จับมือกับเครือข่ายพันธมิตรศูนย์การค้าชื่อดังของไทย ขยายโอกาสและเพิ่มช่องทางการขายงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เข้าถึงกลุ่มคนเมืองมากขึ้น

ด้านการขยายตลาดไปต่างประเทศ

จะเดินหน้าผลักดันการเจรจา FTA คงค้างให้ได้ข้อยุติ เช่น ไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน ไทย-ศรีลังกา และเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ เช่น ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) รวมทั้งศึกษาแผนการทำ FTA กับตะวันออกกลาง แอฟริกา และละตินอเมริกา

จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) อาทิ สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร มัลดีฟส์ จีน และบังกลาเทศ ส่งเสริมเอสเอ็มอีใช้ประโยชน์จาก RCEP เดินหน้านโยบาย Soft Power เผยแพร่อัตลักษณ์สินค้า GI ไทยผ่านเมนูอาหาร โดยเชฟระดับมิชลินไกด์ และนำอินฟลูเอนเซอร์ต่างชาติมาช่วยโปรโมตสินค้าชุมชน สนับสนุนงานศิลปะไทย สู่ตลาด NFT Art

และส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิง เช่น งานเพลง เกม ดิจิทัล คอนเทนต์ไทยสู่เวทีนานาชาติ ร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มที่สำคัญของโลกภายใต้ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)

ด้านการติดอาวุธการค้าฝ่าวิกฤต

จะใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือสร้างข้อได้เปรียบให้กับสินค้าและบริการของไทย เสริมความมั่นใจให้ผู้ประกอบการไทยในการดำเนินธุรกิจ จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning และพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมด้านอัญมณีและเครื่องประดับ

ด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจและประชาชน

จะเดินหน้าลดเวลาการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลภาษาอังกฤษ จาก 3 วันทำการ เหลือเพียง 1 วันทำการ พัฒนาแอปพลิเคชัน DBD e-Service ในการสืบค้นข้อมูลนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจในไทย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันมีผู้เข้ามาใช้บริการแล้วกว่า 43 ล้านครั้ง ให้บริการ GIT Mobile Lab ตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับนอกสถานที่ จัดทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ GIT Standard รวบรวมองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยเชิงลึก ในรูปแบบบิ๊กดาต้า (Big Data) ผลักดันให้เป็น Arts and Crafts Knowledge Center

แถลงผลการทำงาน 1 ปี