กษ.เล็งขอเฉือนงบ 4 หมื่นล้านบาท จากพ.ร.บ.งบกลางปีแสนล้านบาท เร่งปฏิรูปภาคเกษตร

กษ.เล็งขอเฉือนงบ4หมื่นล้านบาท จากพ.ร.บ.งบกลางปีแสนล้านบาท เร่งปฏิรูปภาคเกษตร ตามคำสั่ง“สมคิด”สั่งใส่เงินลงฐานราก

นายลักษณ์ วัจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อต้นเดือนม.ค.2561 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรฯทั้ง 3 คน เข้าสั่งการเพื่อเตรียมโครงการปฏิรูปภาคเกษตร ยกระดับรายได้ให้เพียงพอกับรายจ่าย โดยใช้งบประมาณจากพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณกลางปี 2561 ที่จะออกมาประมาณเดือนมี.ค.2561 วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อดูแลเศรษฐกิจฐานรากกระทรวงเกษตรฯ โดยกระทรวงเกษตรฯต้องคิดโครงการให้ออกมาเป็นรูปธรรม เพื่อนำเสนอให้ รองนายกรัฐมนตรีพิจารณาก่อน เสนอคระรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป

สำหรับโจทย์ที่ นายสมคิด สั่งการมาเพื่อปฏิรูปภาคเกษตร กระทรวงเกษตรฯต้องทำงานร่วมกับ กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นายสมคิดจะมีการสั่งการให้เตรียมโครงการเพื่อผลักดันโครงการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรฯจะใช้การปรับโครงสร้างภาคเกษตร โดยใช้เงินจาก พ.ร.บ.งบประมาณกลางปี ซึ่งยืนยันจะไม่กระทบกับความมั่นคงทางการคลัง เพราะสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ตรวจสอบหนี้สาธารณะเรียบร้อยแล้ว สามารถก่อหนี้ได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท

ส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ต้องหาแนวทางดูแลเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล โดยต้องเป็นงานที่มีคุณภาพและเห็นผลชัดเจน ตามข้อสั่งการของนายสมคิด ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปภาคเกษตร ยกระดับความเป็นอยู่ของที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ให้มีชีวิตรอดระหว่างรอผลผลิต


สำหรับ โครงการปฏิรูปภาคเกษตร ในวันที่ 11 ม.ค.นี้กระทรวงเกษตรจะหารือรูปแบบโครงการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอโครงการ เพื่อขอเบิกงบประมาณจากการหารือเบื้องต้นคาดว่ากระทรวงเกษตรฯจะใช้งบประมาณ ดำเนินโครงการปฏิรูปภาคเกษตรประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ผ่าน 5 โครงการ ดังนี้คือ 1.ชดเชยเงินสำหรับชาวสวนที่สมัครใจโค่นยางเพื่อเปลี่ยนอาชีพ 10,000 บาท/ไร่ จากเดิมการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จ่าย 1.6 หมื่นบาท/ไร่ บวกค่าสมัครใจอีก 4,000 บาท ส่งผลให้ชาวสวนยางหากเปลี่ยนอาชีพจะได้เงินชดเชย 3 หมื่นบาท/ไร่ 2.จัดทำบิ๊กดาต้า ข้อมุลพื้นฐานเกษตรกรเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาภาคเกษตรในอนาคต3.จัดทำไซโล เพื่อชะลอผลผลิตการเกษตร ต้องทำแก้มลิงพักสินค้าไว้รอขายในช่วงผลผลิตตกต่ำ 4.โครงการน้ำขนาดเล็ก และ 5.สร้างอาชีพในฤดูแล้ง ในเรื่องนี้ต้องหารือกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ก่อน ว่าโครงการจะซ้ำซ้อนกับ โครงการเดิมหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามทั้งหมดของรูปแบบโครงการจะนำหารือกับอีกครั้ง