“พาณิชย์”เปิดสำนักงานรับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ เผยเอกชนจดทะเบียนที่ไทยคุ้มครองได้ถึง116ดินแดนทั่วโลก

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการทำพิธีเปิดสำนักงานรับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ (Madrid Application Receiving Office) ที่ชั้น 7 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ สามารถยื่นผ่านพิธีสารมาดริดได้ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย.2560 ที่ผ่านมา แต่กระทรวงฯ เพิ่งมาเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันนี้ เพื่อต้องการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการได้รับรู้และให้ความสำคัญกับการยื่นจดทะเบียนคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ไม่ว่าจะผลิตสินค้าขายในประเทศไทยหรือส่งออกไปขายต่างประเทศ

“การยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ถ้าอยากให้คุ้มครองในไทย ก็ยื่นจดในไทย อยากคุ้มครองในต่างประเทศ ก็ต้องไปยื่นจดที่ต่างประเทศ ตอนนี้ไม่ต้องแล้ว อยากจดคุ้มครองในต่างประเทศ ก็ยื่นผ่านมาดริด โดยสามารถระบุประเทศที่อยากขอคุ้มครองได้เลย และวันนี้มีถึง 116 ดินแดน ทำให้ได้รับความสะดวก สบาย ลดขั้นตอน และประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มาก จากเดิมที่ต้องบินไปจด แต่วันนี้ยื่นจดที่ไทยได้เลย”น.ส.ชุติมากล่าว

น.ส.ชุติมากล่าวว่า ขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงการคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ทั้งการยื่นจดทะเบียนในไทย และยื่นจดเพื่อขอรับความคุ้มครองในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ตนเองจะส่งสินค้าไปขาย โดยในการยื่นจด จะมีค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายของแต่ละประเทศกำหนด ซึ่งมีอัตราไม่เท่ากัน และเมื่อยื่นจดแล้ว ประเทศที่ไทยยื่นจดจะมีระยะเวลาในการพิจารณาคำขอภายใน 18 เดือน ถ้าช้าไปกว่านี้ ก็ถือว่าได้รับการจดคุ้มครองโดยอัตโนมัติ

สำหรับสถิติการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าผ่านพิธีสารมาดริด ตั้งแต่เปิดให้บริการวันที่ 7 พ.ย.2560 ถึงปัจจุบัน มีผู้ประกอบการยื่นคำขอขาเข้าและขาออกรวมกันจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 200 คำขอ ส่วนใหญ่เป็นคำขอของผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่ยื่นระบุขอรับความคุ้มครองในไทย โดยผู้ประกอบการไทยยื่นจดขอรับคุ้มครองในต่างประเทศประมาณ 10% ของคำขอทั้งหมด

ส่วนภาพรวมการรับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า ปัจจุบันสามารถทำได้เร็วขึ้น และสามารถเคลียร์งานค้างได้มากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มอัตรากำลังคน แต่ก็ยังอยากได้คนและงบประมาณเพิ่มอีก หากต้องการผลักดันให้การรับจดทะเบียนทำได้เร็วขึ้นกว่านี้