“สมคิด”ยุบ12ประชารัฐ เหลือ3กลุ่มเร่งสปีดผลงาน

“สมคิด” เขย่าทีมประชารัฐจาก 12 เหลือ 3 ทีม ตั้ง 3 รัฐมนตรีใหม่ประกบคู่ซีอีโอธุรกิจ “กฤษฎา” รมว.เกษตรฯ จับมือ “อิสระ” มุ่งแก้จนลดเหลื่อมล้ำ “สุวิทย์” คู่ “กานต์” รวบ 9 กลุ่ม ท่องเที่ยว ค้าชายแดน EEC ทำแผนเมกะโปรเจ็กต์ใหม่ทั้งหมด มุ่งไทยแลนด์ 4.0 วาง “กอบศักดิ์” ควบ “ศุภชัย” เน้นพัฒนาคน-การศึกษา ตั้งเป้า 3 เดือนเห็นผล

นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-สังคม ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับธุรกิจเอกชนยักษ์ใหญ่ของประเทศ เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากและกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อย ถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เมื่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับความเห็นชอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้จัดกลุ่มทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนใหม่ โดยรวบคณะกรรมการประสานพลังประชารัฐที่เดิมมี 12 กลุ่ม เหลือเพียง 3 กลุ่มเท่านั้น พร้อมจัดโครงสร้างรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ 3 คน

รวบ 12 เหลือ 3 กลุ่ม

นายสมคิดเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับโครงสร้างใหญ่ครั้งนี้ต้องการให้เกิดความเชื่อมโยงในการทำงาน ทั้งด้านงบประมาณ แผนงาน โครงการลงทุนทั้งภาครัฐเอกชนให้ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่กระจัดกระจาย โดยยังคงหลักการการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย การบริหารการพัฒนาคน และมุ่งไปสู่ไทยแลนด์ 4.0

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐครั้งที่ผ่านมา นายสมคิดได้จัดกลุ่มคณะกรรมการสานพลังประชารัฐใหม่ โดยกระชับการบริหารให้สั้นลง พร้อมปรับเปลี่ยนทีมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่เข้าไปกำกับ ประกบคู่กับผู้นำภาคเอกชน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่ปรับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีใหม่ทั้ง 3 คน

ตั้ง 3 รัฐมนตรี ประกบ 3 CEO

ทั้งนี้ กลุ่มประชารัฐจากเดิม 12 กลุ่ม จะปรับเหลือเพียง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำ มีนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ เป็นหัวหน้ากลุ่มภาครัฐ ประกบคู่กับนายอิสระ ว่องกุศลกิจ หัวหน้ากลุ่มภาคเอกชน 2.กลุ่มเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน-Thailand 4.0 มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหัวหน้ากลุ่มภาครัฐ คู่กับนายกานต์ ตระกูลฮุน หัวหน้ากลุ่มภาคเอกชน และ 3.กลุ่มพัฒนาคน มีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ากลุ่มภาครัฐ คู่กับนายศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นหัวหน้ากลุ่มภาคเอกชน

นายสุวิทย์ให้เหตุผลว่า “เนื่องจากท่านรองฯสมคิดมองว่า 12 คณะมากเกินไป ดังนั้นเพื่อความกระชับและประสานการทำงาน ไม่ให้ต่างคนต่างทำงานตามวาระและภารกิจของกลุ่มตัวเอง จึงรวมให้เหลือเพียง 3 กลุ่มดังกล่าว ทั้งนี้ วาระจัดกลุ่มโครงสร้างประชารัฐใหม่

นายสมคิดจะนำเข้าเป็นวาระพิเศษในการประชุมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐในวันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม 2561 เวลา 16.00 น. ที่ห้องประชุม 1 ตึกสำนักงาน ก.พ. เพื่อสรุปการเปลี่ยนแปลงและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ”

สั่งเร่งผลงานรูปธรรม 3 เดือน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า การจัดขอบเขตความรับผิดชอบของทั้ง 3 กลุ่มใหม่ นายสมคิดต้องการเห็นความคืบหน้าผลงานที่เป็นรูปธรรมระยะสั้นภายใน 3 เดือน อย่างช้าสุดภายใน 9 เดือนข้างหน้า ก่อนจะเข้าสู่โรดแมปการเลือกตั้ง โดยจะเป็นการควบรวมกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาอยู่ภายใต้ภารกิจของ 3 กลุ่มประกอบด้วย

รมว.กฤษฎา-อิสระคุม 5 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1.ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ควบรวมมาจาก 5 กลุ่มเดิม คือ กลุ่ม D 3 การส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE ได้แก่ Amazing Thai Taste, Amazing Thai Host กลุ่ม D 5 การพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมที่เป็น New S-curve ได้แก่ Bio economy กลุ่ม D 6 การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ได้แก่ การนำที่ดินที่ติดขัดกฎหมาย แต่มีศักยภาพและเหมาะสมในการทำการเกษตรมาจัดสรรให้เกษตรกร

กลุ่ม E 3 การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ซึ่งเดิมมีนายฐาปณ สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้า ได้แก่ จัดตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (จังหวัด) จำกัด ตัวอย่างโครงการระดับประเทศ อาทิ โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย นวัตกรรมเครื่องสีข้าวครัวเรือน โครงการสานพลังเพื่อบ้านเกิด โครงการพยาบาลอาหารปลอดภัย

กลุ่ม E 6 ประชารัฐเพื่อสังคม ได้แก่ ส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของคนพิการ ส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้สูงอายุ การออกเพื่อการเกษียณอายุ ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัยของคนพิการและผู้สูงอายุ ความปลอดภัยทางถนน

เซตแผนลงทุนยักษ์ใหม่หมด

กลุ่มที่ 2 กลุ่มเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน-Thailand 4.0 เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ควบรวม 9 กลุ่มใหญ่เข้าด้วยกัน ประกอบด้วย กลุ่ม D 1 การยกระดับนวัตกรรมและดิจิทัลทั้งระบบ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา กลุ่ม D 2 การส่งเสริม SMEs และเพิ่ม Productivity ภายใต้โครงการให้ยักษ์ธุรกิจช่วยเหลือธุรกิจรายย่อย (Big Brother 5.0) โครงการไทยเท่ทั่วไทย SMEs Market place, SMEs Matching Day, ASEAN SME Shift up 2018

กลุ่ม D 3 การส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE ได้แก่ โครงการเนรมิตอยุธยา โครงการทัวร์ริมโขง Shopping Paradise และโครงการ Digital Tourism Platform

กลุ่ม D 4 การส่งเสริมธุรกิจการค้าและธุรกิจบริการ ได้แก่ โครงการพัฒนาการค้าเมืองชายแดนแม่สอด การรวมกลุ่มการค้าชายแดนกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (Regional Integration)

กลุ่ม D 5 การพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมที่เป็น New S-curve ได้แก่ สนับสนุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร ยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมการบิน

กลุ่ม D 6 การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ได้แก่ โครงการพัฒนาภาคเกษตรผ่านโครงการแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ การพัฒนาเกษตรให้เป็น Smart Farmer ผ่านกลไกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร

กลุ่ม E 1 การดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ได้แก่ การวางกรอบ PPP ใหม่ทั้งหมด การจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน (Project Management Office) การพัฒนา Smart City และการเจรจาดึงนักลงทุนแบบเฉพาะราย รวมทั้งการสร้างเมืองวิทยาศาสตร์แห่งใหม่

กลุ่ม E 4 การปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ ได้แก่ โครงการปฏิรูปกฎหมาย การอำนวยความสะดวกคนเข้าเมืองด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (สำหรับแรงงานทักษะสูง)

“ศุภชัย” คุมพัฒนาคน

กลุ่มที่ 3 การพัฒนาคุณภาพคน ควบรวมมาจาก 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่ม E 2 การยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ได้แก่Re-branding สถานศึกษาอาชีวศึกษา, การสร้างโมเดลการศึกษาแบบใหม่ (Excellent Model School) สร้างฐานข้อมูลอุปสงค์ อุปทาน ของแรงงานอาชีวะ รวมทั้งการจัดมาตรฐาน-ศูนย์กลางการออกใบอนุญาตการประกอบอาชีพ และ กลุ่ม E 5 การศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ได้แก่ โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (CONNEXT ED)

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท มิตรผล จำกัด และในฐานะประธานฝ่ายภาคเอกชนของคณะทำงานประชารัฐ ชุดการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ (D6) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจัดกลุ่มคณะทำงานสานประชารัฐใหม่ แบ่งกลุ่มและกำหนดเป้าหมายการทำงานร่วมกัน แบ่งคณะทำงานย่อยหลายด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจชุมชน ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพให้กับผู้พิการและผู้สูงอายุ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงอายุ จ้างงานผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เป้าหมายจะให้ได้ 60,000 คน จากปีก่อนที่มีจำนวน 40,000 คน


“การปรับการทำงานของคณะทำงานประชารัฐ มองถึงการพัฒนาประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืน มั่นคง อย่างน้อยในระยะยาวอีก 1-2 ปีข้างหน้า”