เปิดมุมคิด “ครูรุ่นใหม่” พลังขับเคลื่อนการศึกษาไทย

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ระบุว่า ช่วงปี 2556-2567 ครูในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่น้อยกว่า 1.9 แสนคน หรือครึ่งหนึ่งของครูทั้งหมดจะเกษียณอายุราชการ ซึ่งโรงเรียนจะต้องคัดเลือกครูใหม่ ประมาณ 1.56 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของจำนวนครูทั้งหมดในปี 2568

ไม่เพียงโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ที่ต้องประสบภาวะขาดแคลนครู แต่นี่เป็นปัญหาระดับชาติที่สถานศึกษาในทุกระดับต้องเจอ ทำให้หน่วยงานของกระทรวงศึกษาฯออกโครงการต่าง ๆ เพื่อชักจูงให้คนเลือกเรียนด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์มากขึ้น

แน่นอนว่าคนที่จะเข้ามาเป็นกำลังเสริมร่วมขับเคลื่อนการศึกษาไทยในอนาคต คือ คนรุ่นใหม่ แต่คนรุ่นใหม่มองการศึกษาไทยอย่างไร และต้องการพัฒนาการศึกษาไทยให้เป็นไปในทิศทางไหน “ประชาชาติธุรกิจ” ชวนฟังเสียงสะท้อนต่อประเด็นเหล่านี้ผ่าน 4 ครูรุ่นใหม่

เริ่มด้วย “จีรนันท์ เตียนสำรวย” ครูประจำชั้น ป.3 ร.ร.วัดดอนขนาก จ.นครปฐม มองว่า รัฐบาลทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาการศึกษาของไทย โดยมีโครงการเรียนฟรี 12 ปี ซึ่งเป็นนโยบายที่ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองผู้มีรายได้น้อย หรือการมอบเงินสนับสนุนการศึกษาให้แก่นักเรียนยากจน กระนั้น แม้จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษา แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมายังน่าเป็นห่วง เห็นได้จากผลการทดสอบระดับชาติของเด็กไทยที่ยังตกต่ำ

“โอกาสทางการศึกษาจึงไม่น่าจะเป็นประเด็นหลักที่ทำให้การศึกษาไทยตกต่ำ แต่มาจากการไม่เห็นความสำคัญของการศึกษามากกว่า ซึ่งมีผลสืบเนื่องจากระบบการศึกษาที่เปลี่ยนแปลง อย่างการสอบได้คะแนนไม่ดี แต่สามารถเลื่อนชั้นได้ด้วยนโยบายห้ามซ้ำชั้น ครูตีเด็กหรือทำโทษนักเรียนไม่ได้ รวมถึงนโยบายลดการบ้าน และลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”

สิ่งเหล่านี้จะส่งผลดีต่อเมื่อเด็กเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ อีกทั้งครูมีความสามารถ มีประสิทธิภาพ และมีเวลาในการถ่ายทอดความรู้ กระนั้น ครูถูกลดทอนเวลาจากภาระงานหรือหน้าที่อื่น เช่น ต้องเป็นเจ้าหน้าที่การเงินเจ้าหน้าที่พัสดุ ซึ่งกรณีนี้มักพบได้ในโรงเรียนขนาดเล็ก ส่งผลให้ประสิทธิภาพการสอนของครูลดลง

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ “เบญจพร ย่านวารี” ครูผู้ช่วยสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ชั้น ม.1-4 ร.ร.กัลยาณีศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมองว่า ปัจจุบันครูมีภาระงานมากเกินจำเป็น แทนที่จะได้ใช้เวลาในการเตรียมการสอน กลับต้องมาทำภาระอื่น ๆ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่จะมีภาระอื่นนอกเหนือจากการสอนเยอะมาก ยกตัวอย่างเมื่อมีการจัดกิจกรรมจะต้องมีการจัดทำเอกสารหรือรายงานต่าง ๆ เพิ่มเติม

“ครูจึงหาทางลัดที่จะทำให้สอนง่าย และใช้เวลาเตรียมการน้อย ทั้งเนื้อหา เอกสาร และแบบฝึกหัด ด้วยการสอนเหมือนปีก่อน ๆ ทั้งที่โลกหมุนไปไกลกว่านั้นแล้ว เวลา 1 ปีมีเหตุการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งยังมีคนค้นพบสิ่งใหม่ขึ้นอีกตั้งหลายอย่าง แต่ครูยังสอนอยู่แบบเดิม”

“ทั้ง ๆ ที่ความรู้ครูไทยไม่แพ้ชาติอื่น แต่ขาดกลวิธีการถ่ายทอด การสร้างแรงกระตุ้น หรือสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากรู้ โลกเปลี่ยนวิธีการสอนแล้ว จะยังคงให้เด็กท่องจำ หรือจด เพียงเท่านี้คงไม่พอ ต้องให้เด็กได้ลองทำ สร้างประสบการณ์ให้เด็กได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าพูดให้ลึกลงไป คงต้องแก้ที่ขั้นตอนการผลิตครูด้วย”

ในส่วนของ “ปิยรัตน์ แซ่อึ้ง” ครูสอนวิชาภาษาไทย ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม บอกว่า ข้อดีของระบบการศึกษาไทย คือ มีความใกล้ชิดและเอื้ออาทรระหว่างครูกับนักเรียน โดยครูไม่ได้มีหน้าที่แค่สอนวิชาการ แต่ยังมีหน้าที่พัฒนา และช่วยเหลือนักเรียนทั้งทักษะชีวิต การทำกิจกรรม คุณธรรมจริยธรรม ขณะเดียวกัน การเรียนของไทยมีเนื้อหาวิชาที่หลากหลายและเข้มข้น หากเด็กไทยตั้งใจเก็บเกี่ยววิชาความรู้ ก็จะมีพื้นฐานไปต่อยอดในอนาคตได้

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีปัญหาด้านการศึกษา 3 ด้าน ได้แก่ 1.ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กล่าวคือ การศึกษาที่มีประสิทธิภาพต้องแลกมาด้วยเงิน ซึ่งไม่ยุติธรรมกับคนที่ขาดโอกาส 2.การขาดเสถียรภาพและประสิทธิภาพของนโยบาย บางนโยบายใหม่ ๆ ที่ออกมาได้สร้างปัญหา และกลายเป็นนโยบายทดลองเฉพาะยุคสมัย 3.การจัดการเรียนการสอนและการวัดผล นักเรียนไทยส่วนหนึ่งถูกระบบและบุคลากรการศึกษา “จำกัด” มากกว่า “เสริมสร้าง” การเรียนรู้

“เราอยากเห็นการศึกษาไทยขับเคลื่อนไปไกลมาก ๆ แต่ตอนนี้สิ่งที่ตัวเองมีกำลัง และอำนาจที่จะทำได้ คงเป็นการทำหน้าที่ครูให้ดีที่สุด ในฐานะครูภาษาไทย เราหวังให้นักเรียนฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างมีวิจารณญาณ เพราะจะเห็นได้ว่าปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ส่วนหนึ่งมาจากการขาดวิจารณญาณ”

“ส่วนในฐานะครู เราหวังให้นักเรียนทำได้ 3 ข้อเท่านั้น คือ ค้นพบตัวเอง เห็นใจคนอื่น และทำให้สังคมพัฒนา เราเชื่อว่าปัญหาการศึกษามีปัจจัยมากกว่าแค่เรื่องการจัดการศึกษา แต่ต้องจัดการสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และอีกหลายอย่าง ดังนั้น วิธีหนึ่งในการขับเคลื่อนการศึกษา คือ การพยายามผลิตคนที่มีคุณภาพออกไปจัดการสังคม”

ปิดท้ายที่มุมคิดของ “นิวัฒน์ วุฒิศรีศิริพร”อาจารย์ประจำสถาบันภาษา ม.บูรพา จ.ชลบุรี เขามองว่ามีอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หนึ่งในอุปสรรค คือ คุณภาพของผู้เรียนที่ส่งต่อมาถึงระดับอุดมศึกษา จะเห็นได้ว่าการจัดการศึกษาของไทยเน้นการสอบเป็นหลัก และดูเหมือนว่าเป้าหมายหลักของการศึกษาไทย คือ “การสอบผ่าน” ทำให้ผู้เรียนไม่เรียนรู้วิธีการเรียนด้วยตนเอง

“ผู้เรียนจึงยึดติดกับความรู้ที่ได้จากผู้สอน หรือตำราเรียน ส่งผลให้ขาดกระบวนการคิด และการค้นคว้าด้วยตนเอง เมื่อเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาแล้ว ผู้เรียนส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการเรียนที่เคยชินมา ดังนั้น จึงมองว่า ควรมีการปรับเรื่องการวัดผล ให้เน้นที่ความสามารถของผู้เรียน ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือทำ โดยครูอาจารย์ต้องสอนให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองให้ได้”

“สิ่งที่ผมต้องการขับเคลื่อน คือ ปรับวิธีการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียน เปลี่ยนวิธีการวัดผล และทำวิจัยด้านการศึกษา เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น และรู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง ขณะเดียวกันอยากให้อาจารย์มีความตื่นตัวในการปรับการเรียนการสอน มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวคิดใหม่ ๆ ระหว่างอาจารย์ด้วยกัน เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นกว่าเดิม”