“เด็กถาปัตย์ โลกส่วนตัวสูง” จริงหรือ?

เรื่องโดย ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ
คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ต้องบอกว่าในแต่ละปีมีบัณฑิตจบใหม่หลากอาชีพหลายสถาบัน แต่ไม่ว่าจะสถาบันโด่งดังแค่ไหน เราวัดคุณภาพกันที่อะไร?

จำนวนบัณฑิตที่จบ ชื่อเสียงสถาบัน เกรดเฉลี่ย ประสบการณ์การทำงาน หรือวุฒิภาวะด้านอื่นๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ที่ต้องได้รับการพิจารณาเพื่อคัดเลือกเข้าทำงาน

หากย้อนกลับมามองสายวิชาชีพแต่ละสาขาอาชีพ บัณฑิตจบใหม่ที่ออกไปรับใช้สังคมย่อมถูกหล่อหลอมไปต่างวัฒนธรรมแต่ละที่ออกมาเป็นคาแรกเตอร์ หรือลักษณะเฉพาะซึ่งเรียกว่ามันป็นธรรมชาติไม่แปลกอะไร

แต่เคยได้ยินมาว่า “เด็กถาปัตย์ โลกส่วนตัวสูง” ซึ่งเสียงลือเสียงเล่าอ้างนี้ก็ไม่อาจปฏิเสธว่าจริงหรือไม่จริงก็ได้ ตามที่กล่าวไปนั้นส่วนมากแล้วมักขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเสียมากกว่า (หรือเข้าใจว่าเป็นคาแรกเตอร์ของสถาปนิกส่วนใหญ่ก็ได้…ไม่ผิด)

ต้องทำความเข้าใจยังงี้ครับ! สำหรับผู้เรียนสายสถาปัตย์ ขณะเป็นนักศึกษาตลอดจนจบไปเป็นสถาปนิกส่วนใหญ่มักใช้เวลาของชีวิตหมดไปกับการทุ่มเทในงานออกแบบ เขียนแบบ ตัดโมเดล จึงทำให้พบอาการแบบที่เห็นกัน อาทิ อดตาหลับขับตานอน จนบางทีก็เบลอไปเลยก็มี

และแน่นอนเวลาที่สูญเสียไปกับงานที่เขาพยายามสร้างสรรค์อยู่นั้น อาจส่งผลทำให้เขาเสียโอกาสที่จะเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ทำให้ถูกมองได้ว่าเขาอาจจะอยู่กับตัวเองมากกว่าอยู่กับสังคม ทำให้บางครั้งบางสถานการณ์ ผู้เรียนสายสถาปัตย์คิดเอง เออไปเอง ทำให้ขาดทักษะในการใช้ชีวิตไปบ้างก็มี

ก็เป็นไปได้ว่าทำให้เด็กในสายนี้เติบโตในแบบที่เรียกว่า “เป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง” ถูกมองว่าแปลกแยกจากสังคม มีอาการของคนขี้น้อยใจ อารมณ์แปรปรวนง่าย ไม่ทนต่อคำวิจารณ์ของคนอื่น คบเฉพาะคนที่มีแนวทางเดียวกัน มีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน สื่อสารเป็นภาษาที่เข้าใจระหว่างพวกเดียวกันเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ที่มหาวิทยาลัยรังสิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มองเห็นประเด็นปัญหาและตื่นตัวในเรื่องนี้มาก เพราะเราอยากเห็นนักศึกษาที่จบไปของเราคงมีคาแรกเตอร์ที่ทำงานร่วมกับผู้อื่นและสังคมได้โดยไม่อีโก้หรือมีโลกส่วนตัวสูงจนเกินไป เราจึงสร้างสังคมของเราให้เป็นสังคมแห่งการให้และการแบ่งปัน “Giving & Sharing Society“ รู้จักเคารพสิทธิ มีความรับผิดชอบ และรู้จักการเรียนรู้ร่วมกัน

เราจึงสร้างบทบาทและสังคมในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ของเรา โดยอาจารย์จำเป็นต้องลดบทบาทในการตัดสินถูกผิดบนอัตตาของตัวเอง ถึงแม้นักศึกษาจะมีข้อผิดพลาดในการออกแบบอยู่บ้าง ก็ไม่ควรถูกละเมิด ด้วยการวิจารณ์ ด่าทอ ตำหนิอย่างรุนแรงจนก่อให้เกิดความท้อแท้ เพราะเหล่านี้เป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นคน สุดท้ายอาจสร้างให้มีบาดแผลในใจ ทำให้มองโลกในแง่ลบและอาจถึงขั้นต่อต้านสังคม

เพราะไม่ว่าจะคณาจารย์หรือนักศึกษาไม่ว่าจะชั้นปีไหนก็ตามล้วนมีบทบาทที่จะเติมเต็มองค์ความรู้ซึ่งกันและกันได้ เราสามารถวิจารณ์กันและกันเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพให้มีทิศทางที่ดีขึ้น และที่สำคัญก้าวไปพร้อมกันไม่มีใครเก่งกว่าใคร แต่เรานำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกัน ถกปัญหาเพื่อให้เห็นข้อผิดพลาดและแก้ไขร่วมกัน

คงจะดี…ที่การเรียนรู้สายสถาปัตยกรรมไม่ใช่แค่เพียงการสอนให้ “เป็นนักออกแบบที่ดี” หรือ “เป็นสถาปนิกที่ดี” เท่านั้น แต่เป็นการสอนให้สถาปนิกเข้าใจโลกมากขึ้นและพร้อมที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ได้บนพื้นฐานความคิดที่มีความแตกต่าง แต่เรามีหน้าที่หลักคือ ความรับผิดชอบต่อสังคม และเพื่อนมนุษย์ด้วยกันร่วมกันนั่นเอง

และจะดีมากกว่านี้ หากทุกสายอาชีพปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนรู้จักบทบาทหน้าที่ต่ออาชีพของตนให้มีความซื่อสัตย์ และเคารพสังคมเช่นกัน