ตรีนุช สั่งอาชีวะทั่วประเทศ คิดสิ่งประดิษฐ์ช่วยเด็กติดในรถโรงเรียน

ตรีนุช เทียนทอง
ตรีนุช เทียนทอง

ตรีนุช มอบหมายอาชีวะทั่วประเทศคิดสิ่งประดิษฐ์ช่วยเด็กติดในรถโรงเรียน พร้อมสั่งศึกษาธิการจังหวัดสุ่มตรวจ

วันที่ 1 กันยายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์นักเรียนถูกลืมบนรถตู้รับ-ส่งนักเรียน จนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตนั้น ตนได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประสานไปยังสถานศึกษาในสังกัด สอศ.ทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ให้คิดค้นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ป้องกันและช่วยเหลือเด็กที่ติดอยู่ในรถยนต์ โดยต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน

ซึ่งหลังจากคิดค้นนวัตกรรมและประดิษฐ์สำเร็จแล้วให้ประสานไปยังโรงเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่ของวิทยาลัยนั้น ๆ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ได้มอบให้นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งไปยังศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการกำกับ ติดตาม และสุ่มตรวจสอบการใช้รถรับ-ส่งนักเรียนของโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ว่าได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 หรือไม่

“ทราบว่าที่ผ่านมาวิทยาลัยอาชีวศึกษาหลายแห่งได้คิดค้นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ในการป้องกันและช่วยเหลือเด็กที่ติดอยู่ในรถออกมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เช่น วิทยาลัยเทคนิคลำปาง ได้สร้างระบบป้องกันและเตือนภัย โดยอาศัยหลักการตรวจจับความเคลื่อนไหวภายในรถยนต์ ซึ่งเมื่อระบบตรวจสอบพบการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตในรถ กล่องควบคุมจะสั่งการเปิดประตูรถยนต์ และส่งสัญญาณเตือนภัยในรูปแบบระบบเสียงแจ้งเตือนด้วยไซเรนและส่งข้อความ SMS ที่ระบุพิกัดสถานที่ด้วย GPS ไปยังโทรศัพท์ ที่ตั้งค่าเอาไว้ก็จะสามารถดูพิกัดสถานที่ได้ทันที

หรือที่วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม ได้ประดิษฐ์ชุดควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรถยนต์ เมื่อมีผู้ติดอยู่ในรถ และมีค่าคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 1,000 ppm ซึ่งเป็นค่าที่ทำให้ผู้ติดอยู่ในรถรู้สึกอึดอัด เครื่องก็จะทำงานอัตโนมัติ และวิทยาสารพัดช่างอุบลราชธานี ได้ประดิษฐ์เครื่องทำลายกระจกรถยนต์ กรณีรถยนต์ตกน้ำหรือมีผู้ติดอยู่ในรถ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะติดตั้งไว้ในรถ สามารถยิงทำลายกระจกรถยนต์แบบ Tempered เมื่อกระจกถูกทำลายจะแตกตัวแบบเมล็ดข้าวโพด และหากตกน้ำจะมีอุปกรณ์เสริมเพื่อขอความช่วยเหลือ และจะมีสัญญาณแสดงตำแหน่งที่รถจมอยู่ เป็นต้น”

นางสาวตรีนุชกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อให้มีอุปกรณ์ในการช่วยเหลือนักเรียนที่ถูกลืมไว้ในรถยนต์ได้ทันทีเท่านั้น ทุกโรงเรียนไม่ควรให้มีเหตุการณ์ลืมนักเรียนไว้บนรถตู้รับ-ส่งนักเรียน จนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตเกิดขึ้นมาอีก

ขอให้ทุกโรงเรียนทั่วประเทศใช้รถรับ-ส่งนักเรียน โดยปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัดและไม่ประมาท ทั้งในส่วนของการตรวจสอบสภาพรถยนต์ที่นำมารับ-ส่งนักเรียน ความพร้อมของพนักงานขับรถ และผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ที่ต้องตรวจสอบจำนวนนักเรียนที่รับ-ส่ง แต่ละเที่ยวให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อนักเรียน แล้วก็ประจำอยู่กับรถโรงเรียนตลอดเวลาที่รับ-ส่งนักเรียน เพื่อควบคุมดูแล และช่วยเหลือนักเรียนให้เกิดความปลอดภัยตลอดการเดินทาง