80 ปี บัญชี “ธรรมศาสตร์” มุ่ง 8 โครงการช่วยผู้ประกอบธุรกิจ

เป็นระยะเวลากว่า 8 ทศวรรษที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลิตบุคลากรคุณภาพออกสู่ตลาดแรงงานไทย โดยปี 2561 นับเป็นโอกาสดีที่ทางคณะพาณิชย์ครบรอบ 80 ปี จึงใช้วาระนี้จัดทำโครงการเพื่อนำความรู้ ขยายวงกว้างออกสู่สังคม ผ่าน 8 โครงการ กระจายตามกลุ่ม และพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อช่วยผู้ประกอบการตั้งแต่รากหญ้าไปจนถึงอุตสาหกรรมใหญ่

“รศ.ดร.พิภพ อุดร” คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรามุ่งมั่นสู่การเป็นต้นแบบของสถาบันการศึกษา และวิจัยด้านบริหารธุรกิจดีที่สุดของประเทศไทย ด้วยการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกในหลากหลายสาขาวิชาเพื่อตอบสนองพัฒนาการของประเทศ

“พร้อมกันนี้ ยังคงเห็นความต้องการของภาคธุรกิจ รวมทั้งผู้ประกอบการอีกมากมายที่ยังขาดผู้เชี่ยวชาญในการให้ความรู้ เป็นที่ปรึกษา จึงทำให้เกิด 8 โครงการ เพื่อพัฒนาธุรกิจตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงอุตสาหกรรมอนาคต ด้วยการทำให้ธุรกิจแข็งแรง และเติบโตไปพร้อม ๆ กัน ผ่านการดำเนินการของบุคลากร และอาศัยความรู้ของคณะในการขับเคลื่อน”

“โดยมีการเปิดตัวโครงการแรกไปแล้วเมื่อสิ้นปี 2560 ในชื่อโครงการ S 100 เพื่อ SMEs หัวใจนักสู้ ซึ่งเป็นหลักสูตรในชื่อเดียวกับโครงการที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับบริษัท มัชรูม กรุ๊ป จำกัด และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พัฒนาหลักสูตรให้ผู้ประกอบการ SMEs เรียนรู้สิ่งที่ขาด พัฒนาตนเอง จนสามารถต่อยอดสร้างรายได้จากหลักล้านสู่ระดับร้อยล้าน”

“หลักสูตร S100 เพื่อ SMEs หัวใจนักสู้เริ่มเปิดรับสมัครรุ่นแรกช่วงเดือนมีนาคม 2561 รับรุ่นละ 100 คน ใช้เวลาอบรม 12 สัปดาห์ มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1.25 แสนบาท ตั้งเป้าผลักดันผู้ประกอบการให้ได้ 10 รุ่น ภายใน 5 ปี ”

“รศ.ดร.พิภพ” กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนโครงการที่ 2 Thammasat Model เดิมเป็นโครงการที่นักศึกษาในคณะออกไปปฏิบัติงานจริงร่วมกับชุมชน โดยมีสมาคมเพื่อนชุมชนใน จ.ระยอง เป็นพันธมิตรในการดำเนินงาน เน้นผู้ประกอบการรายย่อยระดับรากหญ้า เพื่อพัฒนาสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า ตัวอย่างโครงการที่ผ่านมา เช่น สแน็กบาร์จากข้าวของแบรนด์ Rice Me จ.ระยอง ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงสุดถึง 300 เท่า เป็นต้น โครงการนี้จะร่วมกับธนาคารออมสินเพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

โครงการที่ 3 รัตนโกสินทร์ Rejuvenation เพื่อเป็นการฟื้นความสดใหม่ให้กับร้านค้ารอบเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีอยู่จำนวนหลายร้าน เพื่อให้เกิดความคึกคัก และเอื้อต่อธุรกิจท่องเที่ยว เน้นพัฒนาด้านดีไซน์และการตลาด นำระบบออนไลน์เข้ามาใช้

“พร้อมกันนั้น เราจะดึงลูกหลานของพวกเขาเข้ามาต่อยอดกิจการต่อไป โดยโครงการรัตนโกสินทร์ Rejuvenation จะร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวจ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ดทั้งยังร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาแอปพลิเคชั่น เพื่อประโยชน์ในการโปรโมต และการรีวิวร้านค้าโดยเราจะนำร่อง 100 ร้านค้าแรก คาดว่าจะเห็นผลภายใน 3 ปี เพราะต้องเก็บข้อมูลร้านค้าในย่านนี้ทั้งหมดก่อน จัดหมวดหมู่ ทำแผนธุรกิจ และพูดคุยกับทายาทเพื่อให้เกิดการต่อยอดอย่างแท้จริง”

โครงการที่ 4 Food Industry เป็นการมุ่งเป้าพัฒนาธุรกิจร้านอาหาร เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ ใน 3 ด้าน คือ tasty, safety และ healthy โดยจะร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในการคัดเลือกร้านอาหารในประเทศที่มีมาตรฐาน เพื่อมอบสัญลักษณ์ Thai Select และมีการจำแนกออกเป็นกลุ่ม Thai Select Plus ซึ่งมีความพิเศษคือ ร้านอาหารออร์แกนิก (organic) ร้านอาหารตำรับชาววัง (heritage) และร้านที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

โครงการที่ 5 Start Up Eco-System โครงการนี้เป็นโครงการที่มีการขยายพื้นที่เพิ่มจากเดิมอีก 2 แห่ง คือ ที่คณะพาณิชย์ และที่วิทยาเขตรังสิต ซึ่งจะมีการสร้างบรรยากาศการทำงานแก่สตาร์ตอัพ แนะนำเวทีประกวด ให้ความรู้กลไกด้านการเงิน การระดมทุน และเน้นหนักในด้านการเงิน

โครงการที่ 6 Technopreneur เป็นโครงการที่ส่งเสริมผู้ประกอบการเชิงเทคโนโลยี ทั้งกลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ แพทย์ วิทยาศาสตร์ ซึ่งแต่เดิม “รศ.ดร.พิภพ” บอกว่าพวกเขามีความรู้เฉพาะด้านวิชาการ แต่ไม่มีความรู้ด้านธุรกิจ เราจึงมีการผนวกคำ Technology+Entrepreneur จนกลายเป็น Technopreneur เพื่อมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการสายพันธุ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งเป้า 10% ของจำนวนนักศึกษาสายนี้ หรือประมาณ 1,000 คน โดยเปิดให้นักศึกษาปี 3-4 ที่สนใจ สามารถเรียนควบคู่กับการเรียนในหลักสูตรปกติ เมื่อจบออกไปจะมีใบรับรองในด้าน Technopreneur ด้วย

โครงการที่ 7 Financial Literacy เป็นรูปแบบการส่งมอบความรู้แก่คนรุ่นใหม่ ซึ่งประสบปัญหาการบริหารการเงิน รวมไปถึงในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยผลิตเป็นไวรัลคลิป เพื่อให้เข้าใจง่าย สนุกสนานน่าติดตาม ทั้งนี้จะร่วมมือกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ รวมทั้งผ่านระบบออนไลน์ต่อไป

โครงการที่ 8 Thammasat Degree International Country เป็นโครงการที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทที่เมียนมา เพื่อขยายขอบเขตการเรียนรู้ เนื่องจากเมียนมามีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ขณะที่บุคลากรด้านการเงินยังขาดแคลนอยู่มาก คาดว่าหลักสูตร ป.โทดังกล่าวน่าจะช่วยให้นักศึกษาจากเมียนมามีความเข้าใจในระบบการเงินมากขึ้น โดยสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2561

นอกจากมุ่งความเป็นเลิศด้านวิชาการ สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องมุ่งเน้นต่อไปคือการมุ่งรับใช้ประชาชน ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องยึดมั่นจึงจะเรียกว่าสร้างคนอย่างสมบูรณ์