มธ.ชู 3 เมกะโปรเจกต์งานวิจัย”เกษตร-บิ๊กดาต้า-โอทอป” สร้างมูลค่าเปลี่ยนกล้วยหอมตกเกรดทำไซรัปสุดเจ๋ง

งานวิจัยไทยต้องไปไกลระดับโลก!…คำพูดที่หึกเหิมและช่วยกระตุ้นให้ไปไกลได้จริง ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน

“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” พาเก็บตกจากงานเปิดเมกะโปรเจกต์ปี 2561 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์

เมื่อเทคโนโลยีก้าวไปไกลผนวกกับความรู้วิทยาศาตร์ที่ไม่หยุดยั้ง ก่อให้เกิดงานวิจัยที่สร้างคุณค่า และคุณูปการ รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทยหลากหลายด้าน

สมชาย ชคตระการ คณะบดีคณะวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี มหวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ในปี 2561 นี้ คณะมุ่งมั่นพัฒนาวิจัยจากการสำรวจ ศึกษาถึงอุปสรรคต่างๆ รวมถึงช่องว่างที่ยังคงเป็นปัญหารวมทั้งประยุกต์ความรู้แบบบูรณาการเพื่อให้เกิดการต่อยอดในอนาคตด้วยกัน 3 เมกะโปรเจกต์ คือด้านการเกษตร บิ๊กดาต้า และการพัฒนาเพื่อผู้ประกอบการโอทอปและเอสเอ็มอี

โดย SCI for AGRICULTURE หรือวิทยาศาสตร์เพื่อการเกษตร เป็นการต่อยอดศักยภาพให้เกษตรกรไทยกับโจทย์สำคัญในการทำงานคือ จะต้องพัฒนานวัฒกรรมเพื่อประชาชน ที่ชาวบ้านและเกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ และต้องใช้ต้นทุนต่ำ

ด้านต่อไปคือโจทย์ใหญ่ของนานาประเทศทั่วโลกสำหรับ SCI for BIG DATA หรือ วิทยาศาตร์เพื่อการจัดการข้อมูล เพื่อให้ประเทศเท่าทันกระแสบิ๊กดาต้า และระบบคลาวด์ ที่นำเอาข้อมูลมาสร้างสรรค์ใช้ประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม

และสุดท้ายคือ SCI for OTOP/SMEs หรือวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการโอท็อปและเอสเอ็มอี เพื่อช่วยยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพสามารถส่งขายไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถสร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศ

@วิจัยสมัยใหม่ไม่ได้อยู่บนหิ้งอีกต่อไป ต้องเข้าถึง-จับต้องได้ และร่วมมือกัน

ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมองภาพของงานวิจัยว่าเป็นสิ่งที่ยาก และจับต้องไม่ได้มากไปกว่าแค่ศึกษา และวางวิจัยไว้เพียงแต่บนหิ้งเท่านั้น แต่ภาพรวมในปัจจุบันกลับส่งสัญญาณดีว่าวิจัยจะไม่ได้อยู่แค่เพียงบนหิ้งอีกต่อไป คณะบดีคณะวิทยาศารตร์และเทคโนโลยีระบุว่า ปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อก่อนเพราะต่างคนต่างทำ ไม่มีการต่อยอดให้เกิดมูลค่า แต่ปัจจุบันนี้วิจัยที่มีอยู่บนหิ้งนั้นน้อยลง และมีความหลากหลายมากขึ้น ด้านรัฐบาลเองมีการสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มกัน มีการบูรณาการกันมากขึ้นทั้งในหน่วยงานเดียวกัน หรือนอกหน่วยงานก็ตาม ทำให้เกิดการพัฒนาในหลากหลายด้าน

ส่วนปัญหาของงานวิจัยนั้นคือ เรื่องของงบประมาณที่มีไม่เพียงพอ รวมถึงเวลาของอาจารย์ผู้วิจัยนั้นมีน้อยมาก เนื่องจากต้องสอนหนังสือไปด้วย ทำให้มีเวลาทุ่มเทให้กับการวิจัยได้ไม่มากนัก อีกทั้งการขอทุนวิจัยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

@ 5 เทรนด์วิจัยมาแรงที่ต้องจับตา ประเทศยังต้องการ!

ส่วนด้านเทรนด์วิจัยที่มาแรงนั้น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำการสำรวจพบว่ามี 5 ด้านวิจัยที่ประเทศไทยยังต้องการคือ

1.ด้านเกษตร เป็นการพัฒนาระบบ หรือนวัตกรรมรองรับภาคการเกษตร อาทิ ระบบควบคุม-สั่งการระยะไกลด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผ่านเทคโนโลยี iOT

2.ด้านความมั่นคง การพัฒนานวัตกรรมทางทหาร เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อ และนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เซ็นเซอร์ตรวจจับวัตถุต้องสงสัย

3.ด้านเทคโนโลยี ที่เกี่ยวกับกับการจัดเก็บข้อมูลที่ยากต่อการเข้าถึง โดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ บล็อกเชน

4.ด้านพลังงาน เพื่อหาแนวทางวิจัยการใช้ประโยชน์จากพลังงานด้านอื่นๆ และ 5.ด้านการท่องเที่ยว พัฒนานวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับต่างชาติ

@ส่องตัวอย่างวิจัยสุดเจ๋ง ใช้ได้จริง

– เปลี่ยนกล้วยหอมทองตกเกรดใช้ไม่ได้เป็น “ไซรัปกล้วยหอมทอง”

กล้วยหอมทองเป็นผลไม้ที่สามารถปลูกได้เกือบทุกพื้นที่ของไทย โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า ในปี 2556 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทั้งประเทศ 86,270 ไร่ มีมูลค่าการส่งออกกว่า 46 ล้านบาท ตลาดกล้วยหอมจึงไม่ใช่ตลาดเล็กๆ เพราะแม้จะปลูกได้ทุกที่ทั่วไทย แต่ก็ยังไม่พอขาย โดยแหล่งปลูกกล้วยหอมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยคือ “จังหัวดปทุมธานี” มีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมกว่า 1.4 หมื่นไร่ (ข้อมูลจากปี 2556)

ซึ่งเทพปัญญา เจริญรัตน์ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการทำวิจัยไซรัปกล้วยหอมทองว่า ด้วยความที่มหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญการร่วมมือกับชุมชนที่อยู่คือจังหวัดปทุมธานี จึงมีการให้งบประมาณเพื่อมาร่วมบูรณาการระหว่างเกษตรกร และบุคลากรของมหาวิทยาลัย และด้วยจังหวัดปทุมธานีเป็นพื้นที่เพาะปลูกกล้วยหอมส่งออกต่างประเทศแหล่งใหญ่ การควมคุมคุณภาพของผลผลิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ

“ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นคือเมื่อปลูกกล้วยหอมขึ้นมาแล้ว มันก็จะมีกล้วยหอมที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือพูดง่ายๆ คือ กล้วยตกเกรด ซึ่งมีค่อนข้างเยอะถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ของกล้วยที่ผลิตส่งออก เราจึงเกิดไอเดียที่จะนำเอากล้วยตกเกรดที่ไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว มาแปรรูปให้เกิดมูลค่า”หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพกล่าวและว่า กรรมวิธีการผลิตนั้นใช้เวลาไม่เกิน 2 วัน หากมีวัตถุดิบ เครื่องมือ และบุคลากรอย่างครบคัน ซึ่งจะต้องทำให้ไซรัปที่ผลิตจากกล้วยหอมนั้นมีความเข้มข้นเทียบเท่ากับไซรัปที่วางขายในท้องตลาดด้วย

ขณะที่ในด้านของราคาที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มนั้น หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพกล่าวต่อว่า สามารถกำหนดราคา และสู้กับท้องตลาดได้เยอะพอสมควร เพราะไม่ได้มีต้นทุนเพิ่ม เนื่องจากเป็นการเอาผลผลิตที่มีอยู่มาแปรรูปนั่นเอง

-ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมความอร่อย สร้างอาชีพ “นักชิม” เพื่อผลิตภัณฑ์โอทอป

“ผลิตภัณฑ์สินค้าโอทอป” ที่ช่วยเสริมสร้างรายได้ และสร้างงานให้กับคนในชุมชน แต่จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาแล้วนั้นได้มาตรฐานสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้

นี่จึงเป็นที่มาในการเริ่มวิจัย และสร้างศูนย์บริการพัฒนารสชาติ ที่ประภาศรี เทพรักษา หัวหน้าสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารเล่าให้เราฟัง

สำหรับ”ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมความอร่อย” หัวหน้าสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารกล่าวว่า จะช่วยพัฒนารสชาติของทั้งอาหาร และเครื่องดื่มให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด ด้วยการสร้าง”นักชิม” ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากการเข้าอบรมกับทางศูนย์ฯ ที่สามารถทดสอบ และประเมินคุณภาพอาหารด้วยวิธีทางประสาทสัมผัสทั้งรูปลักษณ์ภายนอก และรสชาติที่ถูกต้องตามหลักองค์ความรู้

เชื่อว่าวิจัยที่มาจากบุคลากรที่มีคุณภาพเหล่านี้จะสามารถต่อยอดและตอบโจทย์ของสังคม นำมาซึ่งการพัฒนาประเทศชาติได้ครบทุกด้าน และทำให้ประเทศไทยก้าวไปเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” อย่างแท้จริง