สอนเด็กไทยทั่วประเทศทำ CPR ช่วยคนประสบอุบัติเหตุฉุกเฉิน

สอนเด็กไทยทั่วประเทศทำ CPR ช่วยคนประสบอุบัติเหตุฉุกเฉิน
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ตรีนุช มอบ สพฐ.-อาชีวะ สอนเด็กทั่วประเทศทำ CPR ให้เป็น หวังช่วยผู้ประสบอุบัติเหตุในสถานการณ์ฉุกเฉิน

วันที่ 20 กันยายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์ฝนตกน้ำท่วมในจังหวัดอุดรธานี ทำให้มีนักเรียนโดนไฟฟ้าดูดนั้น เป็นบทเรียนที่ทำให้ตนเห็นว่า

ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพด้วยวิธีปั๊มหัวใจ หรือ การทำ CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) เป็นการปฐมพยาบาลเพื่อช่วยชีวิต ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน สามารถช่วยผู้ป่วย ผู้ประสบอุบัติเหตุที่หยุดหายใจกะทันหัน หรือหัวใจหยุดทำงานได้

ซึ่งในหลายโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการก็สอนวิธีการทำ CPR ให้นักเรียนอยู่แล้ว แต่อาจจะยังสอนไม่ครบทุกโรงเรียน ดังนั้นจึงมอบหมายให้ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ดำเนินการให้สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่

ฝึกอบรมให้นักเรียน นักศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทั่วประเทศ ให้มีทักษะการทำ CPR ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะการเอาชีวิตรอดที่กระทรวงศึกษาธิการเน้นย้ำปลูกฝัง โดยผ่านกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสม

“กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนานักเรียน นักศึกษา ที่ครอบคลุม ทั้ง 4 H ได้แก่ กิจกรรมพัฒนาสมอง (Head) กิจกรรมพัฒนาจิตใจ (Heart) กิจกรรมพัฒนาทักษะการปฏิบัติ (Hand) และกิจกรรมพัฒนาสุขภาพ (Health) มาอย่างต่อเนื่อง เช่น ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดูแลสุขภาพจิตนักเรียนและครู โดยสร้างระบบการดูแลนักเรียนและครูด้าน Mental Health ในสถานศึกษา

การนำระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่บนระบบดิจิทัล หรือ School Health HERO มาใช้ในสถานศึกษาของ สพฐ., ความปลอดภัยรถรับ-ส่งนักเรียน, การดูแลความปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นต้น ซึ่งการสอนวิธีการทำ CPR นี้ ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งในด้านการพัฒนาสุขภาพ”