ศธ.ปรับมาตรการสถานศึกษา หลังโควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง

ตรีนุช เทียนทอง
ตรีนุช เทียนทอง

กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ปรับมาตรการสถานศึกษา หลังโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

วันที่ 3 ตุลาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมสถานศึกษาในสังกัด ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศยกเลิกโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565

ส่งผลให้ระเบียบต่าง ๆ ที่ออกไปสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นประกาศ มาตรการการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 หลักเกณฑ์การเปิดภาคเรียนสถานศึกษา หรือกลไกต่าง ๆ ที่บังคับใช้อยู่ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับแนวทางปฏิบัติของ สธ. โดยจะให้ความสำคัญกับการทำงานบูรณาการควบคู่กับ สธ. โดยเฉพาะระบบอนามัยซึ่งเดิมมีอยู่แล้ว แต่ต้องปรับให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

“ในด้านนโยบาย ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ.อย่างเคร่งครัด เช่น แนะนำให้สวมใส่หน้ากากอนามัยกรณีเข้าไปในสถานที่ที่แออัด หรือเป็นพื้นที่ปิด จัดสภาวะแวดล้อมของสถานศึกษาให้ถูกสุขลักษณะ และหากมีการติดเชื้อในสถานศึกษา ให้จัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสมโดยไม่ปิดเรียน

ทั้งนี้ ศธ.จะเน้นการพัฒนาระบบและทักษะให้นักเรียนและครูสามารถดูแลตนเองได้ โดยใช้โครงการ 1 โรงเรียน 1 ครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ ซึ่งจะเน้นทักษะในการคัดกรองดูแลสุขภาพเบื้องต้นตนเองได้ เช่น ความเสี่ยงการติดโรคระบาด การกู้ชีวิตขั้นพื้นฐานได้ (Basic Life Support) รวมถึงด้านสุขภาพจิตใจ มีระบบการคัดกรอง เฝ้าระวัง การส่งต่อ ด้านความเครียดหรือซึมเศร้าต่าง ๆ เพื่อให้การช่วยเหลือและลดความรุนแรง”

ด้าน นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในส่วนที่สถานศึกษาต้องดำเนินการคือ ประกาศนโยบายมิติสุขภาพ และคำแนะนำการป้องกันโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง จัดสภาวะแวดล้อมของสถานศึกษาให้สะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ และจัดห้องเรียนให้มีระบบระบายอากาศที่ดี มีการประเมินความเสี่ยงตามความเหมาะสม หรือตามคำแนะนำของ สธ. และคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด

รวมทั้งส่งเสริมการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ ครู บุคลากร นักเรียน และผู้ปกครอง สำหรับการปฏิบัติของนักเรียนและบุคลากร ยังคงเน้นเรื่องของการล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย ประเมินความเสี่ยงตนเอง และรับวัคซีนตามคำแนะนำปัจจุบันของ สธ. ตลอดจนเฝ้าระวังสังเกตอาการป่วยเป็นคลัสเตอร์ พร้อมรายงานผลผ่านออนไลน์อนามัยโรงเรียน

เมื่อมีการติดเชื้อเกิดขึ้น กรณีไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ให้จัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมโดยไม่ปิดเรียน ปฏิบัติตามหลักการ Universal Prevention เน้นมาตรการ 6-6-7 เข้มงวดการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างของนักเรียนในห้องเรียนไม่น้อยกว่า 2 เมตร งดการทำกิจกรรมรวมกลุ่ม จัดพื้นที่ให้มีระบบระบายอากาศที่ดี ทำความสะอาดห้องเรียนชั้นเรียนตามมาตรการของ สธ.

ส่วนกรณีมีอาการปานกลางหรือรุนแรง ให้ปฏิบัติตามแนวทางการดูแลรักษาของ สธ. และติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ตามระบบงานอนามัยโรงเรียน

นายอรรถพล สังขวาสี รักษาราชการแทนปลัด ศธ. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีการใช้ระบบติดตามผลข้อมูลและเก็บฐานข้อมูลของทุกหน่วยงานไว้แล้ว พร้อมเตรียมออกประกาศกระทรวง เกี่ยวกับแนวปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ. เพื่อสื่อสารองค์ความรู้เรื่องโรคระบาดไปยังสถานศึกษา นักเรียน ครู ผู้ปกครอง ให้ขับเคลื่อนการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน


โดยทุกหน่วยงานในสังกัดของ ศธ. มีความพร้อมในการดำเนินการอยู่แล้ว เชื่อมั่นว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้คนไทยสามารถดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงได้