มหาลัยปรับตัว 360 องศา มุ่งสตาร์ตอัพตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

อัตราการเกิดใหม่ของประชากรที่ลดลงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่สั่นคลอนธุรกิจการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมหาวิทยาลัย เพราะจำนวนนักศึกษานำมาซึ่งค่าเทอมที่นำไปหล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่รอดได้ กระนั้น ช่วง 4- 5 ปีที่ผ่านมา ปัญหาผู้เรียนลดลงได้สะเทือนไปทั่วมหาวิทยาลัยรัฐ และเอกชน ดังมหาวิทยาลัยรัฐขณะนี้มียอดผู้เรียนลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2560 มียอดผู้สมัครแอดมิสชั่นอยู่ที่ 81,230 คน จากทั้งหมด 109,129 ที่นั่ง ขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังจากเดิมมีนักศึกษาใหม่ประมาณ 5,000 คนต่อปี ตอนนี้เหลือ 4,000 กว่าคน

ปรากฏการณ์เช่นนี้ จึงทำให้ทุกฝ่ายเจ็บตัวกันถ้วนทั่ว

ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ ดังนั้น ภาพที่เห็นตลอดมาคือการควบรวมหลักสูตร หรือการยุบสาขาที่ไม่เป็นที่ต้องการของผู้เรียน โดยมหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับเทรนด์ จึงต้องปิดตัวลงไปโดยปริยาย เพราะสิ่งที่จะสามารถดึงดูดผู้เรียนได้คือการมีหลักสูตรที่ทันสมัย ตอบโจทย์ผู้เรียน และตลาดแรงงานไปพร้อม ๆ กัน

ตอนนี้หลายมหาวิทยาลัยต่างปรับทิศทางสู่การเป็นสถาบันการศึกษาที่สร้างผู้ประกอบการ หรือสตาร์ตอัพ เพื่อรับกับลักษณะนิสัยของคน Gen Y ที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง และเทรนด์การผลักดันสตาร์ตอัพของไทย ทำให้สิ่งที่ตามมาคือการปรับหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน รวมถึงการสร้าง ecosystem ต่าง ๆ

ธุรกิจบัณฑิตย์ผุด DPU-X 

“ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์” อธิการบดี ม.ธุรกิจบัณฑิตย์มองว่า เมื่อตลาดของกลุ่มมหาวิทยาลัยมี over supply มหาวิทยาลัยเอกชนต้องปรับตัวเพื่อหาจุดแข็งของตัวเองให้ชัดขึ้น สำหรับจุดเด่นของเราคือเรื่องผู้ประกอบการ หรือนักธุรกิจเป็นผู้สร้างชาติ โดยจับจุดนี้เป็นตัวขับเคลื่อนโปรเจ็กต์ต่าง ๆ

“เรื่องผู้ประกอบการเป็นประเด็นที่ทุกมหาวิทยาลัยควรจะเล่น ไม่เช่นนั้นจะเป็นวิจัยขึ้นหิ้ง ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณ disconnect กับภาคอุตสาหกรรม แล้วคุณสอนอะไร สอนให้ใคร สอนเพื่ออะไร ดังนั้น ทุกมหาวิทยาลัยต้องเชื่อมต่อกับภาคธุรกิจ หนีไม่ได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกก็มีแนวทางนี้เช่นกัน”

ทั้งนั้น ม.ธุรกิจบัณฑิตย์สอดแทรก New Business DNA เข้าไปให้นักศึกษาตั้งแต่ปี 1 ผ่านการเรียนการสอนแบบโมดูลที่พัฒนาความคิดควบคู่ไปกับวิชาความรู้ เพื่อฝึกคิด และเชื่อมโยงเหตุผล หลังจากนั้น เมื่อขึ้นสู่ปี 3-4 จะให้ทำ capstone หรือสร้างชิ้นงาน โดย capstone เป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยสร้างทักษะสตาร์ตอัพให้กับนักศึกษา อีกทั้งยังทำให้พวกเขาสามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจ

“ตอนนี้เราตั้ง DPU-X ทำหน้าที่เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะมาแตะกับงานวิจัยของอาจารย์ และ capstone ของนักศึกษา ซึ่งหากนักศึกษาทำ capstone ได้ดี เราจะให้ไปกรูมต่อใน DPU-X ขณะเดียวกัน หน่วยงานนี้จะหา funding หรือรับโจทย์จากภาคธุรกิจมา แล้วแจกโจทย์ไปให้แต่ละคณะ และงาน capstone ของนักศึกษา นอกจากนั้น จะมี entrepreneurship program และมีพี่เลี้ยงให้กับโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ด้วย”

ม.หอการค้าไทยถอดโมเดล MIT

ม.หอการค้าไทย ได้จัดตั้ง IDE Center (Innovation Driven Entrepreneurship Center) หรือศูนย์สร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม อันเป็นการต่อยอดจากความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย “รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์” อธิการบดี ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยต้องการสร้างผู้ประกอบการ

IDE เพื่อทำธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นนักรบเศรษฐกิจที่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

นอกจากการมีวิทยาลัยผู้ประกอบการ ยังเปิดวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE 101 ซึ่งเป็นวิชาศึกษาทั่วไป โดยภาคการศึกษาที่ 1 ที่ผ่านมามีนักศึกษาเรียนวิชานี้แล้วกว่า 25 กลุ่ม หรือประมาณ 1,500 คน โดยตั้งเป้าจะให้ความรู้แก่นักศึกษาปีละ 5,000 คน อีกทั้งกำลังเตรียมออกแบบวิชา IDE 102 และ IDE 103 ตามมาเพิ่มเติม

“วิชา IDE 101 เป็นการบูรณาการแนวคิดกระบวนการ 24 ขั้นตอนของการสร้างธุรกิจจาก MIT มุ่งเน้นการเรียนการสอนแบบ projected based learning ซึ่งไม่มีการสอบข้อเขียน แต่ให้นักศึกษาจัดทีมขึ้นมาขายไอเดีย (pitch-ing) โดยมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนของรางวัล หรือมอบเงินให้กับโปรเจ็กต์ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพื่อให้นักศึกษาไป

ต่อยอดเป็นธุรกิจจริง”

นอกจากนี้ ม.หอการค้าไทยยังจัดตั้ง Innovation Driven Entrepreneurship Academy ซึ่งเปิดคอร์ส IDE ในรูปแบบของการบรรยายเชิงปฏิบัติการผ่านนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ โดยเปิดรับเป็นรุ่น ๆ ละ 80 คน ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของนักธุรกิจที่เข้ามาเรียน

BUSEM จุดเด่น ม.กรุงเทพ

จากสโลแกนมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ถูกต่อยอดมาสู่แนวคิด C+E หรือการคิดแบบสร้างสรรค์ (creativity) และการคิดแบบเจ้าของ (entrepreneurship spirit) โดย ม.กรุงเทพได้จัดตั้งคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ (BUSEM) ผ่านการทำงานร่วมกับ Babson College สถาบันที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกิจการของประเทศสหรัฐอเมริกา

“ดร.ศศิรินทร์ สายะสนธิ” หัวหน้าภาควิชาความเป็นผู้ประกอบการ (หลักสูตรภาษาไทย) คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ ม.กรุงเทพ กล่าวว่า นักศึกษาในปัจจุบันมีความสนใจธุรกิจสตาร์ตอัพ และอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ทาง ม.กรุงเทพจึงตั้ง BUSEM ขึ้นมาตอบสนองความต้องการของผู้เรียน โดยมี BUSEM Way ด้วยการให้นักศึกษา

ฝึกสร้างไอเดีย และทำแผนธุรกิจ ก่อนลงมือทำจริง เพื่อต่อยอดให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ หรือสานต่อธุรกิจเดิมของครอบครัว

“เมื่อนักศึกษาเรียนถึงปี 3 เราจะให้พวกเขารวมกลุ่มเพื่อทำธุรกิจกันจริง ๆ โดยให้คิดว่าจะผลิตสินค้าอะไรออกจำหน่าย หากนักศึกษากลุ่มใดขาดแคลนทุนทรัพย์ เราจะให้ทุนตั้งต้นในการทำธุรกิจกลุ่มละ 1 แสนบาท แต่ถ้ามีกำไรจะต้องนำเงินมาคืนด้วย เพราะเราจะนำเงินจำนวนนี้ไปให้นักศึกษากลุ่มอื่น ๆ ต่อไป”

มหา”ลัยรัฐหนุนสร้างสตาร์ตอัพ

ในส่วนของมหาวิทยาลัยรัฐอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ล่าสุดมีการจัดตั้งเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District : SID) โดยทุ่มงบประมาณ 20 ล้านบาทสร้างอาคารสำนักงาน SID ภายในอาคารสยามสแควร์วัน เพื่อเป็นสถานที่จัดเวิร์กช็อป การบรรยาย นิทรรศการ และแสดงตัวอย่างนวัตกรรมฝีมือคนไทย รวมถึงมีฐานข้อมูลด้านนวัตกรรม และ co-working space สำหรับผู้มาใช้บริการ SID เป็นเหมือนเวทีกลางในการขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมออกสู่สังคม และเป็นแพลตฟอร์มให้คนคิด และคนทำได้มาเจอกัน ซึ่งหากนักศึกษาหรือผู้สนใจที่มีแพสชั่นและแนวคิดในการสร้างนวัตกรรมจะมีอาจารย์ชาวไทยและต่างชาติมาช่วยไกด์และเทรนให้ โดยจุฬาฯทำความร่วมมือแล้วกับ MIT และ Stanford University และหลังจากพัฒนาโปรเจ็กต์แล้ว ใครอยากขายแนวคิดเพื่อหาผู้สนับสนุน ก็สามารถทำที่ SID ได้เลย

ขณะที่ ม.ธรรมศาสตร์ตั้งเป้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ (entrepreneurial university) และสตาร์ตอัพดิสทริก (startup district)เน้นสร้างทักษะผู้ประกอบการแก่นักศึกษา และสร้างระบบนิเวศสตาร์ตอัพ โดยได้เปิด Thammasat Creative Space โคเวิร์กกิ้งสเปซครบวงจรทั้งหมด 3 โซน เพื่อกำเนิดธุรกิจ ได้แก่ โซนพื้นที่ทำงาน เพื่อสร้างสรรค์ และแลกเปลี่ยนแนวคิด, โซนเมกเกอร์สเปซ สำหรับสร้างต้นแบบผลงาน และโซนอเนกประสงค์ เพื่อจัดกิจกรรมพร้อมดันสตาร์ตอัพหน้าใหม่ โดยจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบกลางปีนี้