จับตาเด็ก 222 ล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตด้านการศึกษา

เด็กยากจน
ภาพจาก : pixabay kristi611

กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน ออกแถลงการณ์ เด็ก 222 ล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตด้านการศึกษา 

วันที่ 25 มกราคม 2566 กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน (Education Cannot Wait) ออกแถลงการณ์ว่า เนื่องในวันการศึกษาสากล (International Day of Education) บรรดาผู้นำทั่วโลกต้องทำตามคำมั่นสัญญาในการมอบการศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่ทุกคนภายในปี 2573

การศึกษาคือการลงทุนเพื่อสันติภาพท่ามกลางสงคราม คือการลงทุนเพื่อความเสมอภาคท่ามกลางความอยุติธรรม คือการลงทุนเพื่อความมั่งคั่งท่ามกลางความยากจน

เราต้องไม่หลงลืมว่า วิกฤตการศึกษาทั่วโลกกำลังคุกคามผลลัพธ์ของการพัฒนาตลอดหลายทศวรรษ กระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งใหม่ และทำลายความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก

อย่างที่นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้เน้นย้ำในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษาว่า หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงโลกภายในปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประชาคมโลกจะต้องให้ความสนใจกับวิกฤต (การศึกษา) อย่างที่ควรจะเป็น

เมื่อครั้งที่กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกองทุนสนับสนุนการศึกษาในภาวะฉุกเฉินและวิกฤตที่ยืดเยื้อขององค์การสหประชาชาติ ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 จำนวนเด็กที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตและต้องการความช่วยเหลือด้านการศึกษาอยู่ที่ราว 75 ล้านคน แต่ปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นสามเท่า สู่ระดับ 222 ล้านคนแล้ว

ในบรรดาเด็ก 222 ล้านคนที่ถูกพรากสิทธิในการศึกษา เพราะผลกระทบที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณของความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิกฤตที่ยืดเยื้ออื่น ๆ นั้น มีเด็กประมาณ 78 ล้านคนที่ต้องออกจากโรงเรียน ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศฝรั่งเศส อิตาลี หรือสหราชอาณาจักรเสียอีก

เราได้เห็นปัญหาดังกล่าวจากหลายกรณี ทั้งสงครามในยูเครน ความท้าทายในการอพยพชาวเวเนซุเอลาไปยังโคลัมเบียและอเมริกาใต้ การปฏิเสธการศึกษาสำหรับเด็กหญิงในอัฟกานิสถาน และภัยแล้งอย่างรุนแรงอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแถบจะงอยแอฟริกา (Horn of Africa) ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตความอดอยากอย่างรุนแรงกับประชาชน 22 ล้านคน เพราะเราอยู่ในโลกที่เชื่อมโยงถึงกัน

ปัญหาของแอฟริกา ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และอื่น ๆ เป็นปัญหาของโลกที่เราอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางความขัดแย้ง การอพยพย้ายถิ่น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลนานาประเทศ เช่น โคลัมเบีย กำลังดิ้นรนเพื่อรักษาสภาพความเป็นอยู่และการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็ก ๆ บริเวณชายแดนที่เข้าถึงยาก

ความหวังยังมีอยู่ กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉินและพันธมิตรเชิงกลยุทธ์สามารถเข้าถึงเด็ก 7 ล้านคนในเวลาเพียง 5 ปี โดยใช้วิธีการทำงานแบบใหม่ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างรวดเร็วและดำเนินการพัฒนาเชิงลึก และตั้งเป้าว่าจะเข้าถึงเด็ก ๆ อีก 20 ล้านคน ภายใน 4 ปีข้างหน้า

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ บรรดาผู้นำจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมการประชุมด้านการเงินระดับสูงของกองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน (Education Cannot Wait High-Level Financing Conference) ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ งานนี้ร่วมเป็นเจ้าภาพโดยกองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉินและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และร่วมกันจัดโดยประเทศโคลัมเบีย เยอรมนี ไนเจอร์ นอร์เวย์ และเซาท์ซูดาน

โดยเปิดโอกาสให้ผู้นำระดับโลก ภาคธุรกิจ มูลนิธิ และบุคคลที่มีความมั่งคั่งระดับสูง ได้ทำตามคำมั่นสัญญาของเราในการส่งเสริมการศึกษาสำหรับทุกคน เป้าหมายคือการระดมทุน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 4 ปีข้างหน้า

ในฐานะเจ้าภาพร่วมของการประชุมครั้งสำคัญนี้ เราขอเรียกร้องให้คนทั่วโลกมาร่วมลงทุนด้านการศึกษา ซึ่งเป็นการลงทุนที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเรามีคำมั่นสัญญาที่ต้องรักษา

ทั้งนี้ แถลงการณ์นี้ร่วมลงนามโดย อิกนาซิโอ กัสซิส ( Ignazio Cassis) มนตรีแห่งสมาพันธ์ของสมาพันธรัฐสวิส, สเวนยา ชูลซ์ (Svenja Schulze) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเยอรมนี, อิบราฮิม นาตาตู (Ibrahim Natatou) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไนเจอร์, แอนน์ บีธ ทวินเนอไรม์ (Anne Beathe Tvinnereim) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาระหว่างประเทศของนอร์เวย์,

อาวุต เดง อาคุล (Awut Deng Acuil) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของเซาท์ซูดาน, อเลฮานโดร กาวิเรีย (Alejandro Gaviria) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของโคลัมเบีย และ กอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ผู้แทนพิเศษด้านการศึกษาขององค์การสหประชาชาติ และประธานคณะกรรมการกำกับดูแลระดับสูงของกองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน