“หมอธี” เปิดช่องยืดหยุ่นรับ ม.1/ม.4 ร.ร.ดังแห่ค้าน หลัง สพฐ.แนะเพิ่มห้อง

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวตอนหนึ่งในการสัมมนาการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2561 โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษากว่า 300 แห่งเข้าร่วม เพื่อแก้ปัญหาการรับนักเรียน ว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศแนวทางการรับนักเรียน ประจำปีการศึกษา 2561 ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. กำหนดนักเรียนต่อห้องประถมศึกษา และมัธยมศึกษา 40 คนต่อห้อง สร้างความกังวลให้แก่ผู้ปกครอง และนักเรียนชั้น ม.3 อย่างมากว่าจะไม่ได้เรียนต่อชั้น ม.4 นั้น นโยบายเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 มิติ คือ เชิงวิชาการ ซึ่งการกำหนดจำนวนรับนักเรียน 40 คนต่อห้อง ได้รับความชื่นชมจากสังคม โดยเฉพาะนักวิชาการและครูซึ่งต้องการให้ลดจำนวนนักเรียนลงเพื่อคุณภาพทางวิชาการและปฏิเสธไม่ได้ว่าพูดไม่ผิด แต่ในเชิงบริหารเราไม่สามารถตัดแบ่งได้เหมือนแบ่งเค้กได้ เพราะเรายังไม่มีข้อมูลความหนาแน่นของประชากรในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในเชิงบริหารก็คาดการณ์ไว้แล้วตั้งแต่ต้นว่า จะมีปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนดัง ซึ่งคิดเป็น 10% ของโรงเรียนทั้งหมดทั่วประเทศ

นายบุญรักษ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า การกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องปีนี้ เป็นความตั้งใจที่จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีของ กพฐ. แต่อาจจะลืมคิดถึงเด็กและผู้ปกครองที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะชั้นอนุบาล 3 ในโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดที่จะขึ้น ป.1 และนักเรียนชั้น ม.3 ขึ้น ม.4 โรงเรียนเดิม ซึ่งตนได้รับเรื่องร้องเรียนมาเยอะว่า เมื่อเด็กจะเลื่อนชั้นในโรงเรียนเดิม แต่พอถูกบีบให้เหลือ 40 คนต่อห้อง จะเอาเด็กไปไว้ตรงไหน ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนช่วยกันคิดหาทางออก อย่างไรก็ตามในการเสนอทางออก ขอให้คำนึงว่า โรงเรียนมีหน้าที่ให้บริการสาธารณะ อะไรที่ต้องทำให้เกิดความเรียบร้อยก็ต้องทำ แต่ต้องทำบนหลักการของความเป็นธรรมและความเหมาะสม เรื่องความทุกข์ร้อนของประชาชนไม่ควรยืดเยื้อ เชื่อว่า กพฐ. จะรับฟังและช่วยแก้ปัญหา

“ผมได้หารือเรื่องนี้กับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ ได้ย้ำว่า อะไรที่ทำแล้วประชาชนไม่เดือดร้อน ก็ให้ทำต่อไปได้ ระเบียบเมื่อออกมาแล้ว ต้องทำให้ประชาชนมีความสุข เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญหาอะไรก็ให้ยืดหยุ่น แต่ต้องทำภายใต้หลักการ ซึ่ง สพฐ.ย้ำมาตลอดไม่ให้มีการระดมทรัพยากรในช่วงรับนักเรียน อย่าคิดว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก เพราะถ้าน้ำมาแรงก็อาจจะจมน้ำตายได้ ดังนั้นน้ำขึ้นขอให้รีบหลบ อย่าคิดว่า ต้องได้เงินมาเพื่อบริหารโรงเรียน เพราะการระดมทรัพยากรแม้จะมีเจตนาบริสุทธิ์ก็ต้องทำในช่วงเวลาที่เหมาะสม อย่ากดดันประชาชน และอย่าหลบเลี่ยงว่ารับไว้ก่อน แล้วค่อยมาออกใบเสร็จทีหลัง ซึ่งจะเป็นการทำผิดซ้ำซ้อน ขณะเดียวกัน เรื่องการสอบคัดเลือก ซึ่งจะมีบัญชีสำรอง กรณีเด็กสละสิทธิก็ขอให้เรียกตามลำดับ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ” นายบุญรักษ์กล่าวและว่า ทั้งนี้ส่วนตัวมีแนวทางแก้ปัญหาในใจบ้างแล้ว เช่น หากไม่สามารถที่จะเพิ่มจำนวนนักเรียนต่อห้องมากกว่า 40 คนได้ ก็อาจยืดหยุ่นให้ขยายห้องเรียน เป็นต้น ทั้งนี้หากได้ข้อสรุปจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการศธ.พิจารณา และเสนอเข้าที่ประชุม กพฐ.วาระพิเศษโดยเร็วที่สุด

ด้านนายธรรมรงค์ เสนจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพรตพิทยพยัต กรุงเทพฯ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่านโยบายกำหนดจำนวนนักเรียนที่ 40 คนต่อห้องมีความเหมาะสมในเชิงวิชาการ เพราะทำให้เกิดคุณภาพในการเรียนการสอน โดยผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ได้ขัดข้อง แต่ในทางปฏิบัติ ปีนี้อยากให้ สพฐ. ช่วยแก้ไข โดยเริ่มใช้เป็นบางพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น ซึ่งหากกำหนดที่จำนวน 40 คนต่อห้อง โดยไม่ให้มีความยืดหยุ่น ก็เกรงว่า ผู้ปกครองอาจจะไม่พอใจและออกมาเรียกร้องที่ศธ. จะกลายเป็นปัญหา

นางปราณี ทัยคุปต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลราชบุรี จ.ราชบุรี กล่าวว่า ส่วนตัวยินดีที่จะทำตามนโยบาย แต่อยากให้ยืดหยุ่นสำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล 3 ที่กำลังจะเข้าเรียนชั้น ป.1 ที่ขณะนี้มีจำนวนมากกว่า 40 คนต่อห้อง ให้โรงเรียนสามารถรับเด็กได้จำนวนเท่าเดิม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา โดยทางโรงเรียนจะไม่ขอเพิ่มห้องเรียนและจะไม่เพิ่มจำนวนรับ

 


ที่มา : มติชนออนไลน์