พัฒนาศักยภาพครูช่าง ปั้นเด็กอาชีวะรับอุตฯ 4.0

????????????????????????????????????

“บรรยากาศในห้องเรียนก่อนหน้านี้ เด็กไม่สนใจเรียน ไม่ตั้งใจเรียน ไม่อยากเข้าเรียน เพราะคิดว่าวิทยาศาสตร์คงเต็มไปด้วยการคำนวน ต้องจำสูตรมากมาย พวกเขาไม่คิดว่าวิทยาศาสตร์จะนำไปใช้ประโยชน์ได้”

ซึ่งเป็นคำบอกเล่า ของ “สุชาดา เค้าโคน” ครูวิทยาศาสตร์แห่งวิทยาลัยเทคนิคแพร่ ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่นักเรียนขาดแรงจูงใจในการเรียนวิทยาศาสตร์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่เลือกมาเรียนเพราะ ขาดการเรียนทฤษฎี และการท่องจำสูตรคำนวณต่างๆ ซึ่งเปรียบเสมือนยาขมสำหรับพวกเขา

ซึ่งจากการประเมินของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า ความต้องการแรงงานอาชีวะของประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 ล้านคน โดยเฉพาะในสายงานด้านไอที และวิศวกรรม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัล

ในขณะที่ผลการวิจัยเชิงลึกโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พบว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตขาดแคลนช่างเทคนิครุ่นใหม่ที่เพียบพร้อมทั้งทักษะความรู้ในการปฏิบัติงานเฉพาะทาง (hard skills) และ ทักษะทางด้านอารมณ์ (soft skills) อาทิ การสื่อสาร การแก้ปัญหา การบริหารจัดการเวลาและการทำงานเป็นทีม และความสามารถในการคิดวิเคราะห์

เพราะบุคลากรสายอาชีพที่จะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 4.0 ในอนาคต ด้วยเหตุนี้เองโครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” จึงมุ่งพัฒนาการศึกษาสายอาชีพด้วยการเสริมศักยภาพให้กับบุคลากรครูผู้สอนในสถาบันอาชีวศึกษารู้จักกระบวนการเรียนการสอนแนวใหม่ที่ส่งเสริมให้นักเรียนสนใจและสนุกกับการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพื่อวางรากฐานการสร้างแรงงานรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

“สุชาดา” ครูอาชีวะรุ่นแรกที่ผ่านการอบรมครูต้นแบบจากศูนย์ TVET เล่าให้ฟังว่า โครงการ Chevron Enjoy Science ได้มาจัดกิจกรรมค่ายวิชาการ STEM for TVET CAMP ที่วิทยาลัยเทคนิคแพร่ และได้รับความสนใจจากนักเรียนเป็นอย่างมาก เนื่องจากค่ายเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้คิดสร้างสรรค์และประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆ ด้วยตัวเองตลอดสองวันเต็ม ซึ่งต่างจากค่ายวิชาการทั่วไป ความสำเร็จของกิจกรรมในครั้งนั้น ทำให้เราได้รู้จักและตระหนักถึงกระบวนการสอนแนวใหม่ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียน ทำให้เด็กเกิดความสนุกและอยากมีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น

หลังจากนั้นดิฉันได้รับการคัดเลือกให้เข้าอบรม เพื่อเป็นครูต้นแบบในหลักสูตร Active Physics ซึ่งเป็นหลักสูตรสะเต็มศึกษาระดับสากลที่ออกแบบมาเพื่อสถาบันอาชีวศึกษาโดยเฉพาะ โดยเป็นหลักสูตรที่เน้นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการสอนแบบสืบเสาะโดยใช้โครงงานเป็นฐาน (a project-based inquiry approach) และแต่ละหัวข้อของกิจกรรมในหลักสูตรจะเริ่มต้นด้วยภารกิจที่ท้าทาย ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงหลักวิทยาศาสตร์เข้ามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยใช้วงจรการออกแบบเชิงวิศวกรรม (Engineering Design Cycle) และความคิดสร้างสรรค์มาช่วยทำภารกิจในการทดลองให้สำเร็จ

“และหลังจากที่ได้นำเทคนิคการสอนของหลักสูตร Active Physics มาประยุกต์ใช้ในห้องเรียน บรรยากาศในห้องเรียนเริ่มเปลี่ยนไป นักเรียนมีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อวิชาวิทยาศาสตร์ เนื่องจากกิจกรรมของหลักสูตรได้เชื่อมโยงหลักวิทยาศาตร์เข้ากับชีวิตประจำวัน ทำให้นักเรียนมองเห็นภาพและคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงได้ง่ายขึ้น จึงรู้สึกสนุกและอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น”

“ตัวอย่างหนึ่งในกิจกรรมในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรม ทีนักเรียนจะได้ทำการทดลองโดยใช้สื่อการสอนของ Active Physics เพื่อเชื่อมโยงบทเรียนเรื่องความเคลื่อนที่เข้ากับอุปกรณ์เสริมสร้างความปลอดภัย ผลที่ตามมาคือ นักเรียนสามารถเชื่อมโยงทฤษฎีเข้าเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันได้ เช่น ทฤษฎีกฎของนิวตันกับการสวมหมวกกันน็อคและการขี่จักรยานยนต์ ทั้งยังสามารถคิดค้น ทดลอง และสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อแก้โจทย์ปัญหา รวมถึงมีการถกเถียงแสดงความคิดเห็นกันภายในชั้นเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน”

นอกจากการนำหลักสูตร Active Physics มาปรับใช้ภายในชั้นเรียนของตนเองแล้ว ในฐานะครูต้นแบบของโครงการ ดิฉันยังมีภารกิจในการเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการเพื่อส่งต่อกระบวนการสอนแนวใหม่นี้ให้กับครูอาชีวศึกษาคนอื่นๆ

“สิ่งที่เราไปอบรมมาไม่ได้หยุดอยู่เพียงที่ตัวเองเท่านั้น ดิฉันได้นำความรู้ไปสอนนักเรียน และยังมีภารกิจในการเผยแพร่ส่งต่อเทคนิคการสอนที่ได้อบรมมาให้ครูคนๆ อื่นได้นำไปใช้ในชั้นเรียนและสถาบันอื่นๆ ด้วย ทำให้รู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอาชีวะศึกษาอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ดิฉันเชื่อว่าเด็กอาชีวศึกษา ถ้ามีทั้งทักษะและความรู้ จะเหมือนเป็นการติดอาวุธให้พวกเขาเป็นบุคคลากรที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตต่อไป”

ถึงตรงนี้ “อาทิตย์ กริธพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บอกว่า เชฟรอนมีเจตนารมณ์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาพลังคน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศที่บริษัทเข้าไปดำเนินธุรกิจ

โดยผ่านทางการสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ (TVET Hub) ภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของเชฟรอนในการสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งเพื่อพัฒนาแรงงานวิชาชีพให้มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทย

“ปัจจุบันโครงการกำลังก้าวสู่ปีที่ 4 ได้จัดตั้ง TVET Hub ไปแล้วจำนวน 4 แห่ง พร้อมจัดอบรมให้กับครูและนักเรียน ตลอดจนจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อสนับสนุนการผลิตบุคลากรคุณภาพในสายอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง”

“เราคาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถจัดตั้งศูนย์ TVET Hub ได้ 6 แห่งทั่วประเทศ สร้างประโยชน์ให้กับสถาบันอาชีวศึกษากว่า 60 แห่ง อบรมเชิงปฏิบัติการครูกว่า 1,800 คน และมีนักศึกษาสายอาชีวะและแรงงานได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 138,000 คน”