100 ปี การศึกษาเอกชน ชูการศึกษาเพื่ออนาคต

ทั้งนั้นเพื่อเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลงานของครู นักเรียน นักศึกษาโรงเรียนเอกชน ตลอดจนผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเอกชน โดยให้ผู้บริหาร ครูโรงเรียนเอกชน

 

มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการในหัวข้อที่สำคัญ และการร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเอกชน และประสานพลังเครือข่ายร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเอกชนตามนโยบายรัฐบาล

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จึงมีการจัดงาน “มหกรรมวันการศึกษาเอกชน ประจำปี 2561” ภายใต้แนวคิด “100 ปี การศึกษาเอกชน มุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาไทย” โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ครู นักเรียน นักศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเอกชนเข้าร่วมกว่า 5,000 คน

“พะโยม ชิณวงศ์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ภาพความทรงจำเมื่อย้อนกลับไปในอดีต 100 ปีที่ผ่านมา ความภาคภูมิใจในการศึกษาเอกชนคือการศึกษาที่นำร่องของประเทศ ซึ่งเห็นได้จากการที่โรงเรียนเอกชนนำหน้าในการจัดการศึกษาของประเทศมาโดยตลอด ทั้งการจัดการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น การสอนภาษาอังกฤษ การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่เกิดการคิดค้นตลอดเวลา

ปัจจุบันการศึกษาเอกชนต้องปรับตัวมากขึ้น เนื่องจากรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กเปลี่ยนไป จึงมีประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการดังนี้ หนึ่ง การพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กให้มีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรมที่เด็กสามารถเรียนรู้จากทั่วโลกได้ในห้องเรียน

ซึ่งเชื่อว่าโรงเรียนเอกชนจะเป็นผู้นำในการขยายผลโลกอนาคตของการศึกษา เพราะขณะนี้มีโรงเรียนในระบบและนอกระบบที่จะมาเสริมกัน เช่น เสริมทักษะ เสริมวิชาการ โดยมีครูเก่ง ๆ จำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลต่างให้การสนับสนุน เช่น ติวฟรีดอทคอม เพราะต้องยอมรับว่า สิ่งนี้คือโลกใหม่ของการจัดการศึกษา

สอง เพิ่มความรู้ทักษะอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงทักษะทางวิชาการ แต่ต้องมีทักษะในการใช้ชีวิต ทักษะทางอาชีพ ซึ่งครูต้องแนะนำให้เด็กเพื่อปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

สาม การสอนให้เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม ทำให้รู้ถึงวิถีความเป็นไทย โดยน้อมรับแนวคิดของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแนะองค์ 4 คือ พุทธศึกษา, จริยศึกษา, หัตถศึกษา และพลศึกษา ด้วยการนำมาใช้จัดการศึกษาเพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนเก่งมากขึ้น

สี่ พลานามัย การใส่ใจต่อสุขภาพของเด็ก ซึ่งพบว่าเด็กมีภาวะโภชนาการเกินในระดับประถมศึกษา 19% มัธยมศึกษาสูงถึง 36% ทั้งยังพบว่ามีไขมันในเลือดสูงถึง 60% ฉะนั้น โลกอนาคตไม่ใช่เพียงเก่งวิชาการ มีคุณธรรม จริยธรรม แต่ต้องสุขภาพดีด้วย

“พะโยม” กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดการศึกษาเอกชนในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า รัฐและเอกชนจะร่วมกันจัดการศึกษา 50 : 50 เพราะขณะนี้รัฐจัดการศึกษาเองถึง 78% ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้เป็นไปได้คือนโยบายโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศชัดเจนว่า ต้องให้เอกชนเข้ามาช่วยจัดการศึกษา และการขับเคลื่อนในรูปแบบของภาคเอกชนเอง โดยเครือข่ายสมาคมต้องวางแผนร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างเดินหน้าแข่งขันกันเอง

“รวมถึงการจัดการเชิงพื้นที่ในแต่ละจังหวัดให้มากยิ่งขึ้น เพราะมีคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ปส.กช.) รวมถึงคณะกรรมการศึกษาธิการ (ศธจ.) ทุกจังหวัด ซึ่งการบริหารจัดการเชิงพื้นที่สำคัญมาก ทั้งนั้นเพื่อให้เป็นไปตามแผนและเป้าหมาย ความร่วมมือของภาคเอกชนจึงอย่ามองว่าเป็นคู่แข่งกัน แต่ต้องช่วยกันยกระดับให้มีคุณภาพ และไปสร้างเครือข่ายกับภาครัฐ หน่วยงานในพื้นที่ให้ได้ จึงจะบรรลุเป้าหมายความสำเร็จ”

“เราอยากให้ประชาชนทั่วไปมองการจัดการศึกษาเอกชนไม่ใช่เชิงธุรกิจ ขอให้ไว้วางใจว่าเอกชนจะพลิกสถานการณ์เพื่อสร้างคุณภาพทางการศึกษาของประเทศ และอยากให้ภาคเอกชนที่มีกำลังไม่มากพอ ขอให้รัฐช่วยสนับสนุนการจัดการศึกษามากขึ้น เพียงครึ่งหนึ่งหรือ 3 ใน 4 ที่รัฐสนับสนุนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น