DPU บุกหลักสูตรระยะสั้น เปิด Expert on China รับจีนบูม

จำนวนนักศึกษาจีนที่มีอยู่ 3,000 คนของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) แสดงให้เห็นความสำเร็จอย่างมากในการตีตลาดการศึกษาในประเทศจีน ซึ่งหากสแกนมหาวิทยาลัยในไทย จะพบว่า ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ที่มีนักศึกษาจีนมากที่สุด

ความโดดเด่นในเรื่อง “จีน” ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ถูกเน้นย้ำอีกครั้งกับการเปิดหลักสูตร Expert on China (EOC) โดยรวบรวมแนวคิดการทำธุรกิจ ข้อมูลเชิงลึก และกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนจากผู้เชี่ยวชาญด้านสังคม วัฒนธรรม กฎหมาย เศรษฐกิจ การเมืองของจีนโดยเฉพาะ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับคนที่สนใจศึกษา และเตรียมพร้อมการทำธุรกิจในประเทศจีน หรือกับคนจีนอย่างครบวงจร

“ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์” อธิการบดี ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ สะท้อนภาพถึงประเทศจีนว่า 10 ปีที่ผ่านมาประเทศจีนเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ทั้งด้านกายภาพ วัฒนธรรม หรืออื่น ๆ อีกทั้งคนจีนยังออกไปนอกประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ยังเน้นการสานสัมพันธ์กับต่างประเทศผ่านนโยบายต่าง ๆ เช่น One Belt, One Road ที่มุ่งการทำธุรกิจกับทุกระดับ ตั้งแต่เอสเอ็มอีจนถึงรัฐบาล หรือนโยบาย Made in China 2025 ที่ต้องการยกระดับสินค้าของจีนให้มีมาตรฐานมากขึ้น

“จากนโยบายดังกล่าว บวกกับการจัดตั้งสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่ต้องการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และภาษาจีนออกไปยังทุกประเทศ โดยจีนมองไทยว่าเป็นฮับของภูมิภาค แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีโอกาสอีกมากในการไปทำธุรกิจที่จีน หรือทำธุรกิจกับคนจีน ซึ่งจะต้องเปิดตา และมองให้เข้าใจมากขึ้น”

“หลักสูตรนี้จึงถือว่าตอบโจทย์อย่างครบถ้วน เพราะจะทำให้คนไทยเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าคนจีนคิดอย่างไร รวมถึงเรื่องราวการทำการค้า วัฒนธรรม และเทคโนโลยีต่าง ๆ ของจีน ซึ่งหากนักธุรกิจไทยรู้สิ่งเหล่านี้แล้ว จะเข้าใจความเป็นจีนมากขึ้น ทำให้การค้าขายราบรื่น เหมือนรู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”

“ดร.ดาริกา” กล่าวอีกว่า การจัดทำหลักสูตรนี้ยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่ต้องการสร้างทักษะ และความรู้ในการทำธุรกิจ อันแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์อย่างชัดเจนว่าต้องการสร้างผู้ประกอบการและในโอกาสครบรอบ 50 ปีของมหาวิทยาลัย จะมีการเปิดตัวหลักสูตรอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย

สำหรับหลักสูตร EOC เป็นคอร์สระยะสั้น ผ่านการเรียนในรูปแบบการสัมมนา และเวิร์กช็อปเป็นเวลา 4 เดือน มีทั้งหมด 28 หัวข้อการเรียน ค่าเรียนประมาณ 150,000 บาท โดยกูรูที่มาร่วมบรรยายในคอร์สเรียน ล้วนเป็นคนคุณภาพที่มีชื่อเสียง และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง อาทิ ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร เลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, นพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, จุลจักรกำลังแพทย์ ซีอีโอแบรนด์ NEOU ที่เจาะตลาดจีนด้วยยอดขาย 240 ล้านบาทใน 4 เดือน, Michael Hao กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Meituan-Dianping เว็บรวมดีล 2 รายใหญ่ของจีนที่ควบรวมกิจการกลายเป็นสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าเป็นอันดับ 4 ของโลก

นอกจากนี้ ยังมี Dr.Tang Zhimin ผอ.ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, บรรจง จิตต์แจ้ง ประธานกรรมการ บมจ.ทีพีบีไอ และกรรมการสถาบันกรรมการบริษัทไทย, Xijun Zhu กรรมการผู้จัดการ China Railway Construction (Southeast Asia) และ อ.คฑา ชินบัญชร ซินแสผู้เชี่ยวชาญศาสตร์จีนระดับท็อปของไทย เป็นต้น

“ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู” รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และรองประธานหลักสูตรEOC ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อุปสรรคสำคัญของคนไทยในการทำการค้ากับคนจีนคือไม่รู้จักเขา ซึ่งคนจีนในปัจจุบันเป็นจีนยุคใหม่ หากคนไทยต้องการทำการค้ากับคนจีนจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเขาชอบอะไร หรือมี customer insight เพื่อเสนอสิ่งที่เขาต้องการได้ เพราะคนจีนเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้บริโภคแล้ว ดังนั้นเขาจะหาประเทศที่สามารถตอบสนองความต้องการได้มากที่สุด

“หลักสูตรนี้อยากให้รู้ว่าหัวใจของจีนคืออะไร และต้องใช้วิธีใดในการทำธุรกิจ เพื่อกุมหัวใจของนักธุรกิจจีน เพราะคนจีนมีเงิน แต่หาพาร์ตเนอร์ที่เชื่อใจหรือเหมาะสมไม่ได้ โดยส่วนใหญ่เป็นการดีลผ่านเอเย่นต์ ที่อาจมีปัญหา และทำให้การค้าไม่สำเร็จ ดังนั้น หลักสูตรนี้จะตัดส่วนนี้ออกไป โดยเราจะทำให้เกิด business matching กันเองได้เลย”

“การลงทุนในจีนมีเรื่องต้องให้รู้อีกเยอะ ทั้งความต้องการของลูกค้า ตลาด การขนส่ง ภาษี การเงิน การมาฟังกูรูจะช่วยเปิดมุมมอง เพราะเขารู้จริง และทำจริง ซึ่งบางเรื่องไม่ได้เปิดเผยสู่สาธารณะ ดังนั้น นอกจากผู้เรียนจะได้เรียนรู้จากวิทยากรที่มีชื่อเสียง ยังรู้เคล็ดลับที่เขาไม่พูดในตำรา หรือหาอ่านจากตำราไม่ได้”

“ดร.พัทธนันท์” บอกว่า ตั้งเป้าหมายผู้เรียนอยู่ที่ 60-80 คน เน้นทำตลาดทั้งบุคคล และองค์กร โดยมีภาคีความร่วมมือกับทั้งภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐบาล โดยการเรียนหลักสูตร EOC จะเน้นความรู้ และสร้าง business connection และนอกจากการวางคอนเน็กชั่นในชั้นเรียนแล้ว ยังหาคอนแท็กต์ของนักธุรกิจในจีนให้อีกด้วย

“เราจะทำหลักสูตรนี้ต่อเนื่องในปีหน้า แต่อาจมีการปรับบางประเด็น เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ในขณะนั้นรวมถึงจะมีหลักสูตรพิเศษ เป็นหลักสูตร matching ซึ่งจะพิจารณาคนที่ผ่านหลักสูตร EOC ก่อน เพราะถือว่าเขามีความเข้าใจในจีนแล้ว ก่อนที่จะขยับไปสู่การจับคู่ทางธุรกิจให้ โดยวางไว้ว่าหลักสูตร matching จะเปิดตัวในช่วงปลายปีนี้”