กระทรวง อว.จับมือ ร.ร.นายร้อยตำรวจ ป้องกันอาชญากรรมทั้งการกระทำความผิดและการตกเป็นเหยื่อในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ทักษะเอาตัวรอดเมื่อต้องเผชิญเหตุและสร้างระบบสภาพแวดล้อมในพื้นที่
วันที่ 16 มีนาคม 2566 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการป้องกันอาชญากรรมในเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ”
ระหว่างกระทรวง อว. กับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยมี พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วม ทั้งนี้ มี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. และ พล.ต.ท.เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นผู้ร่วมลงนาม ที่สำนักงานปลัดกระทรวง อว.
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้เกิดขึ้นระหว่างกระทรวง อว. กับ ร.ร.นายร้อยตำรวจ เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการป้องกันอาชญากรรม ในเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
และเพื่อสร้างระบบสภาพแวดล้อมการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศรวมทั้งส่งเสริมทักษะการเอาตัวรอดแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัย นักศึกษาหรือประชาชนในพื้นที่โดยรอบ เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมทางสังคมที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะในกระบวนการป้องกันอาชญากรรมทั้งในระดับจุลภาคและมหภาคด้วย โดยความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 3 ปี
รมว.อว.กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวง อว. ได้ปฏิรูปมาหลายด้านด้วยกัน ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ และทางด้านการอุดมศึกษา โดยเฉพาะทางด้านการอุดมศึกษาเราได้สร้างกลไกทางนวัตกรรมทางการศึกษาที่เรียกว่า แซนด์บอกส์ เพราะมาตรฐานการจัดการศึกษาแบบเดิม ทำให้ไม่สามารถผลิตกำลังคนในรูปแบบใหม่ได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง กระทรวง อว. จึงริเริ่ม “แซนด์บ็อกซ์อุดมศึกษา”
ที่จะทำให้มีการพัฒนาหลักสูตรทดลอง สามารถปรับปรุงให้แตกต่างจากที่ปฏิบัติตามมาตรฐานเดิม ซึ่งมีหลักสูตรใหม่ๆ ออกมากมากมาย เช่น หลักสูตรด้านความมั่นคงไซเบอร์ ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หลักสูตรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์ ร่วมกับสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ ม.ซีเอ็มเคแอล ภายใต้การดำเนินงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยปัญญาประดิษฐ์ไทย
และหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ ร่วมกับ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มช่องทางการขอตำแหน่งวิชาการ รวมถึงการลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบัน ซึ่งถือเป็นผลสัมฤทธิ์ของการปฏิรูประบบการอุดมศึกษาไทยที่สำคัญครั้งประวัติศาสตร์อีกด้วย
ขณะที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการป้องกันอาชญากรรม สามารถที่จะเข้ามามีบทบาทในการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้แก่นักศึกษา อาจารย์ บุคลากร และประชาชนทั่วไป ในการป้องกันการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมสมัยใหม่ โดยเฉพาะการให้วัคซีนทางไซเบอร์
เพื่อให้มีความรู้เท่าทันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องขอขอบคุณ กระทรวง อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้เล็งเห็นความสำคัญ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรม รวมทั้งการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงาน ที่จะก่อให้เกิดความเข้มแข็งทางองค์ความรู้ และสามารถนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยี
มาประยุกต์ใช้สำหรับการป้องกันอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างเสริมให้สังคมปลอดภัยจากอาชญากรรม มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน