สช.ยังไม่อนุญาตโรงเรียนย่านอ่อนนุชปิดกิจการ จนกว่าจะจ่ายชดเชยครู

สช.ยังไม่อนุญาตโรงเรียนย่านอ่อนนุชปิดกิจการ จนกว่าจะจ่ายชดเชยครูครบ
นายมณฑล ภาคสุวรรณ์

จากกรณีโรงเรียนย่านอ่อนนุชปิดกิจการกะทันหัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ยังไม่อนุญาตให้ปิดจนกว่านักเรียนจะมีที่เรียนใหม่ครบ และต้องยืนยันว่าจ่ายเงินชดเชยให้ครูครบถ้วนก่อน คาดใช้เวลา 3 เดือนเสร็จสิ้น

วันที่ 27 มีนาคม 2566 มติชนรายงานว่า นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้หารือกับผู้แทนโรงเรียนนราทร ย่านอ่อนนุช กรุงเทพฯ ถึงแนวทางการช่วยเหลือครู และผู้ปกครอง ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ 

โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้รวบรวมข้อมูลโรงเรียนโดยรอบทั้งหมด เพื่อให้โรงเรียนรู้ว่าถ้านักเรียนจะย้ายไปเรียนในโรงเรียนเอกชนละแวกนั้น ผู้ปกครองจะเสียค่าใช้จ่าย เช่น ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าอื่น ๆ เพิ่มอีกเท่าไหร่ เพื่อให้คณะกรรมการบริหารโรงเรียนนราทร รับทราบถึงภาระที่ผู้ปกครองได้รับผลกระทบ และนำข้อมูลที่ได้ไปพิจารณาจ่ายค่าเยียวยาให้ผู้ปกครองต่อไป

“ทั้งนี้ สช.ได้ขอความร่วมมือให้โรงเรียนสำรวจติดตามนักเรียนทั้งหมด 555 คน ว่านักเรียนทุกคนมีที่เรียนต่อหรือไม่ โดยโรงเรียนรายงานว่านักเรียน 518 คน มีที่เรียนต่อแน่นอนแล้ว เหลืออีก 37 คน ที่ยังไม่สามารถติดต่อขอข้อมูลจากผู้ปกครองได้ ซึ่งในจำนวนนี้ เด็กอาจมีที่เรียนแล้วก็ได้” 

นายมณฑลกล่าวต่อว่า ขณะนี้ สช.ยังไม่อนุญาตให้โรงเรียนนราทรปิดกิจการ เพราะโรงเรียนต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด โดยต้องส่งหลักฐานการศึกษาให้ครบถ้วน และต้องยืนยันว่าจ่ายเงินชดเชยให้ครูครบถ้วนก่อน สช.ถึงจะพิจารณาอนุญาตให้ปิดกิจการ 

แต่ขณะนี้ถือว่าโรงเรียนแห่งนี้ปิดไปโดยปริยายแล้ว เพราะในปีการศึกษา 2566 โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ เนื่องจากไม่มีนักเรียนเข้ามาเรียนแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ถึงจะดำเนินการปิดกิจการโรงเรียนนราทรแล้วเสร็จ 

อย่างไรก็ตาม แม้โรงเรียนจะปิดกิจการแล้ว ยังต้องตั้งผู้ชำระบัญชีขึ้นมา เพื่อมาดูเรื่องทรัพย์สิน หากมีกรณีร้องเรียนเกิดขึ้น ทั้งนี้ สช.กำชับผู้แทนโรงเรียนนราทร ว่าจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ครูผู้สอน หาที่เรียนใหม่ให้ผู้เรียน รับผิดชอบให้ผู้เรียนทุกคนได้สอบ และจะต้องออกหลักฐานการศึกษาให้ผู้เรียนทุกคน

“สาเหตุการเลิกกิจการของโรงเรียนมีหลายสาเหตุ เช่น โรงเรียนขาดสภาพคล่อง หรืออาจเป็นเพราะเปลี่ยนผู้บริหาร โดยให้ทายาทรุ่นต่อไปเข้ามาบริหาร ซึ่งบุคคลเหล่านี้อาจเปลี่ยนแนวคิด ไม่อยากสู้ต่อเพื่อการศึกษา จึงตัดสินใจปิดกิจการ เป็นต้น ส่วนเรื่องเหล่านี้จะกลายเป็นวิกฤตโรงเรียนเอกชนหรือไม่ มองว่าการจัดการศึกษาเอกชนไม่เหมือนกับรัฐ รัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุน กำกับดูแล กำหนดนโยบาย”


“ส่วนผู้ที่รับผิดชอบจัดการศึกษาคือโรงเรียนเอกชน เป็นนิติบุคคล ซึ่งไม่สามารถก้าวล่วงการบริหารของโรงเรียนได้ ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นธรรมชาติของระบบการศึกษาเอกชน เพราะถ้าบริหารความเสี่ยงให้ดี ก็จะจัดการศึกษาต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ในปีการศึกษา 2565 มีโรงเรียนแจ้งปิดกิจการกับ สช. 45 แห่ง แต่มีโรงเรียนมาแจ้งเปิดกิจการ 35 แห่ง” นายมณฑลกล่าว