อาชีวะสร้างชาติ “ลาว” ผลิตคนรับ Battery of ASEAN

หนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่าง สปป.ลาว มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด อันมาพร้อมกับการวางหลากยุทธศาสตร์ในการยกระดับศักยภาพของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีการพัฒนาด้านต่าง ๆ ย่อมมาพร้อมกับความต้องการแรงงานที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานสายอาชีพ เพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังจะเกิดขึ้นหลายโครงการ โดยกระทรวงศึกษาธิการ และกีฬา สปป.ลาว มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเตรียมกำลังคนทางด้านนี้

 

ปัจจุบัน สสป.ลาวกำลังดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการปฏิรูประบบการศึกษาแห่งชาติระยะที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ ปี 2559-2563 ซึ่งตั้งเป้าสร้างแรงงานลาวให้เป็นพลเมืองที่มีความรู้ความสามารถ และชำนาญด้านวิชาชีพ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จนนำไปสู่การสร้างชาติให้พ้นขีดความยากจนในปี 2563 รวมถึงเป้าหมายในการเป็น Battery of ASEAN

“หนูพัน อุดสา” อธิบดีกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป.ลาวเปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการอาชีวศึกษาฯ ว่า มี 4 ด้านหลัก คือ

1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งครู อุปกรณ์ และเครื่องมือต่าง ๆ 2) ปฏิรูปรูปแบบในการเรียนการสอน และปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน 3) พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และ 4) ร่วมมือกับภาคเอกชนและผู้ประกอบการในการร่วมกันพัฒนาอาชีวศึกษา

“ลาวมีสถาบันอาชีวศึกษาของรัฐบาล 23 แห่ง และเอกชน 60 กว่าแห่ง หากเป็นของรัฐบาลจะเน้นสอนด้านช่าง ส่วนเอกชนเป็นการสอนด้านบริการธุรกิจ ไอที ภาษา บัญชี การเงิน โดยตอนนี้เรามีนักศึกษาอาชีวะของรัฐ 30,000 กว่าคน และแต่ละปีสามารถผลิตนักเรียนอาชีวะออกสู่ตลาดแรงงานได้ประมาณ 15,000 คน ซึ่งมาจากการผลิตคนจากกระทรวงของเราเอง รวมถึงจากกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงโยธาฯ ซึ่งแต่ละกระทรวงจะมีศูนย์ฝึกของตัวเองด้วย”

อย่างไรก็ตาม ลาวกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะเมื่อเด็กเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายส่วนใหญ่ต้องการเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ด้วยสังคมมีค่านิยมว่าต้องมีใบปริญญา ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และดึงดูดเด็กให้เรียนสายอาชีพมากขึ้น ทางภาครัฐจึงจัดทำโฆษณาเพื่อเปลี่ยนความคิดผู้ปกครองว่าหลังลูกหลานเรียนจบ ม.ปลายแล้วต้องเรียนสายอาชีพ รวมถึงมีการออกโปรโมชั่น หรือให้ทุนการศึกษา ขณะเดียวกันเมื่อ 4-5 ปีผ่านมา รัฐบาลจำกัดคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยด้วย

“เรามีมหาวิทยาลัย 5 แห่ง แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยเอกชน ดังนั้น แต่ละปีจะเปิดรับผู้เรียนใหม่เพียง 20% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดที่เรียนจบในปีนั้น ๆ อีกทั้งมีการแบ่งจำนวนรับผู้เรียนอย่างชัดเจนให้กับแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อให้เด็กขยับไปเรียนสายอาชีวะมากขึ้น”

นอกจากนั้น ค่าจ้างของ สปป.ลาวจะอิงจากความสามารถ และลักษณะงานเป็นหลัก มากกว่าการพิจารณาจากใบปริญญา ส่งผลให้เงินเดือนของผู้ที่จบสายอาชีพกับสายสามัญไม่ต่างกันมาก โดยคนที่จบอาชีวะจะมีเงินเดือน 4,000-5,000 บาทขณะที่เงินเดือนของระดับปริญญาตรีจะอยู่ที่ 6,000 กว่าบาท

ทั้งนี้ “หนูพัน” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมากที่สุดคืออุตสาหกรรมระบบราง เพราะมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ทั้งช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า ช่างซ่อมบำรุง ซึ่งต้องการแรงงานในโครงการนี้ประมาณ 6,000 คน ถัดมาคืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ และอุตสาหกรรมพลังงาน

“เราต้องสร้างคนไปรองรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ และเพื่อให้พวกเขาเรียนจบแล้วสามารถทำงานได้อย่างเชี่ยวชาญ นอกจากการฝึกในสถาบันการศึกษาแล้ว เราต้องร่วมมือกับสถานประกอบการ เพื่อให้นักศึกษาฝึกงานอย่างเข้มข้น และมีประสบการณ์จริง”

หนึ่งในโครงการที่ สปป.ลาวร่วมมือกับภาคเอกชนคือโครงการการศึกษาเสริมทักษะสร้างอาชีพ สปป.ลาว โดยจับมือกับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งจำกัด (มหาชน) มีเป้าหมายยกระดับวิชาชีพเฉพาะด้านเทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้ครูอาชีวศึกษาระดับสูง และระดับปริญญาตรี รวมถึงฝึกอบรมทักษะภาคปฏิบัติให้นักศึกษาอาชีวศึกษาชั้นปีสุดท้ายไปประกอบอาชีพตามสถานประกอบการ หรือประกอบอาชีพอิสระอย่างมีประสิทธิภาพ

“กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ให้ข้อมูลว่า โครงการนี้เริ่มดำเนินการระยะแรกในปี 2554-2558 โดยดำเนินการกับ 3 สาขาวิชา คือ วิชาชีพสาขาช่างเชื่อมโลหะ โรงเรียนเทคนิควิชาชีพแบบผสมแขวงไซยะบุรี, สาขาช่างซ่อมบำรุงและวิชาการเดินเครื่อง วิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์, สาขาวิชาการควบคุมไฟฟ้า PLC และวิชาช่างเชื่อมโลหะ วิทยาลัยเทคนิคแขวงหลวงพระบาง โดยมอบทุนการศึกษาให้แก่ครู อาจารย์ และนักศึกษาระดับอาชีวะ พร้อมยกระดับความรู้ความสามารถของบุคลากร รวมถึงร่วมปรับปรุง และพัฒนาสื่อการเรียนการสอน ตลอดจนสนับสนุนเครื่องจักร อุปกรณ์ และโรงฝึกปฏิบัติการ

สำหรับตอนนี้กำลังเข้าสู่การทำงานในระยะที่ 2 มีกรอบความร่วมมือปี 2561-2566 ซึ่งมีการขยาย และสนับสนุนสาขาพลังงานทดแทนเพิ่มเติมเป็นสาขาที่ 4 โดยวางให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาคำม่วนเป็นต้นแบบ ด้วยการจัดตั้งศูนย์การศึกษา และฝึกอบรมด้านพลังงานทดแทน ลาว-ราชบุรี ขณะเดียวกัน ยังจัดทำหลักสูตร และสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ได้แก่ พืชพลังงาน พลังงานจากขยะ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมในระยะถัดไป เพื่อสร้างองค์ความรู้และบุคลากรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโลก ในการรองรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของ สปป.ลาว

“นับตั้งแต่ปีที่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบัน มีสถาบันอาชีวศึกษาเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 10 แห่ง ทั้งยังมีการมอบทุนให้กับครูไปแล้ว 100 ทุน และทุนสำหรับนักศึกษาอีก 1,111 ทุน ภายใต้วงเงินสนับสนุน 40 ล้านบาท และจากการติดตามผลของโครงการระยะแรกพบว่า 80% ของนักศึกษา 611 คนที่ได้รับการสนับสนุนได้งานทำในสถานประกอบการ ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพอิสระ”

อันเป็นผลลัพธ์ที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จจากโครงการความร่วมมือระหว่าง สปป.ลาว และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งเป็นอย่างดี