TVET Automotive Hub ฝึก “น.ศ.อาชีวะ-ครู” รับไทยแลนด์ 4.0

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การพัฒนาการศึกษาให้ตอบโจทย์แนวทางยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 คือการส่งเสริมความรู้ด้าน STEM ด้วยเหตุนี้ โครงการ “Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ภายใต้การดูแลของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย จึงร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดตั้ง “ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้านยานยนต์” หรือ TVET Automotive Hub ที่จังหวัดชลบุรี

“หทัยรัตน์ อติชาติ” ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า โครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต มีเป้าหมายเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทยผ่านการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM รวมถึงการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา สังคม และเอกชนที่เกี่ยวข้อง

TVET Hub จะเป็นศูนย์สำหรับอบรมพัฒนาครู ผู้นำทางการศึกษา แรงงาน และนักเรียนอาชีวะ ให้มีทักษะที่ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

โครงการมีแผนจัดตั้ง TVET Hub จำนวน 6 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งล่าสุดศูนย์ TVET Automotive Hub ชลบุรี เป็นศูนย์แห่งที่ 3 ต่อจาก TVET Multi Sector Hub เชียงใหม่ ซึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และ TVET Energy Hub สงขลา ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

สำหรับแห่งต่อไปคือ TVET Microelectronics Hub นครราชสีมา ที่จะเสร็จภายในปี 2560 ส่วนอีก 2 แห่งที่เหลือกำลังพิจารณาเรื่องสถานที่ และคาดจะดำเนินการภายใน 2 ปีนี้ โดยแต่ละแห่งจะตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นฐานผลิตหลักของอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน พลังงาน การเกษตร และไมโครอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนั้นยังมีอีก 6 หน่วยงาน ที่ร่วมในการบริหาร TVET Automotive Hub ประกอบด้วย สถาบันยานยนต์ สถาบันไทย-เยอรมัน วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ บริษัท ไทยซัมมิท ออโตโมทีฟ จำกัด และบริษัท แสงเจริญทูลส์ เซ็นเตอร์ จำกัด ภายใต้รูปแบบรัฐร่วมเอกชน

“เราเป็นตัวกลางทำให้ภาคการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมเชื่อมโยงเข้าด้วยกันนักเรียนนักศึกษามาฝึกอบรมที่ศูนย์ และในสถานประกอบการ เพื่อจบออกมาแล้วมีทักษะทำงานได้ทันที โดยภายใต้ความร่วมมือทั้งหมดนี้ เราคาดว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสถาบันการศึกษากว่า 60 แห่ง อบรมครู 1,800 คน และพัฒนาทักษะแรงงานและนักศึกษาสายอาชีวะกว่า 138,000 คน”

“ปิยะบุตร ชลวิจารณ์” ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวเสริมว่า TVET Automotive Hub ชลบุรีแห่งนี้ เป็นการนำ TVET Automotive Hub แห่งเดิมที่สมุทรปราการมารวมเข้าด้วยกัน เพื่อขยายพื้นที่รับผิดชอบให้ครอบคลุมตามนโยบายการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) รองรับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคต (New S-Curve)

โดยมุ่งพัฒนาสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและรักษาตำแหน่งผู้นำฐานผลิตและส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้น การพัฒนาให้แรงงานและนักเรียนอาชีวะที่จะเข้าสู่การทำงานในภาคอุตสาหกรรมมีทักษะและความรู้ที่สอดคล้องกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน

“ปัจจัยสำคัญของแต่ละศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพคือ ครู เราจึงจัดหลักสูตรพัฒนาครูฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และครูด้านเทคนิคของสถาบันอาชีวะในเครือข่าย 25 วิทยาลัยทั่วประเทศ ให้เป็น Master Teacher ซึ่งเป็นผู้ที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้รับการพัฒนาแล้วไปถ่ายทอดให้นักเรียนอาชีวะ ให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับช่างเทคนิครุ่นใหม่”

หลักสูตรดังกล่าวเป็นการนำหลักสูตรที่ประเทศออสเตรเลียใช้พัฒนาช่างเทคนิคสู่กลุ่มแรงงานทักษะขั้นสูงผสานกับหลักสูตรของสถาบันไทย-เยอรมัน ซึ่งมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กัน ขณะเดียวกันได้ร่วมกับภาคเอกชนจัดอบรมครูด้านเทคนิคของสถาบันอาชีวะ เกี่ยวกับระบบแมคคาทรอนิกส์และออโตเมชั่น เพื่อนำไปพัฒนาการสอน

ด้าน “ธีรพล ขุนเมือง” อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า กลุ่มจังหวัด EEC มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดรวมกันมูลค่า 1,914,127 ล้านบาท และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.58 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยจังหวัดระยองมี GPP สูงสุดของภาค มีมูลค่า 874,547 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ จังหวัดชลบุรี มีมูลค่า 516,688 ล้านบาท และฉะเชิงเทรามีมูลค่า 323,528 ล้านบาท

“โครงสร้างการผลิตของกลุ่มจังหวัดเหล่านี้พบว่า ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 46.08 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับโครงสร้างการผลิตของภาคตะวันออก ดังนั้น การมีศูนย์ TVET Automotive Hub เข้ามาในพื้นที่ จะช่วยรองรับการขยายตัวอุตสาหกรรมภาคตะวันออก และแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งด้านคุณภาพและปริมาณได้ นอกจากป้อนกลุ่มยานยนต์แล้ว ยังครอบคลุมอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องตามแผน EEC”

เช่น ธุรกิจการบิน ชิ้นส่วน โลจิสติกส์ และหุ่นยนต์ เพราะที่ จ.ชลบุรี มีสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy : MARA) เป็นความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยคาดว่าทั้งสองศูนย์จะสามารถรองรับการพัฒนาแรงงานฝีมือภาคตะวันออกได้มากกว่าปีละ 5,000 คน

ทั้งนั้น การมีภาคเอกชนมาช่วยบูรณาการการเรียนการสอนเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับภาคอาชีวศึกษา จึงจูงใจผู้ประกอบการด้วยการให้สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างที่นักเรียนนักศึกษาเข้าฝึกอบรมในสถานประกอบการมาลดหย่อนภาษีได้2 เท่า ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และตอนนี้เรากำลังจะพิจารณาเพิ่มให้เป็น 3 เท่า


ทั้งหมดนี้สอดคล้อง และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่ต้องการนำประเทศสู่การมีระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี