FameLab Thailand สร้างนักสื่อสารวิทย์มืออาชีพ

ขึ้นชื่อว่า “วิทยาศาสตร์” ย่อมเป็น “ยาขม” หรือเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการ ดังนั้นเพื่อย่อยให้เรื่องวิทยาศาสตร์เข้าใจง่ายกว่าเดิม บริติช เคานซิล จึงได้จัดโครงการ FameLab อันเป็นการแข่งขันนำเสนอเรื่องราว หรืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) และเรื่องใกล้ตัว ให้มีความสนุก น่าสนใจ เข้าใจง่าย ภายใน 3 นาที โดยครอบคลุมหลักเกณฑ์ 3 ข้อ คือ เนื้อหาชัดเจน (content) ความถูกต้อง (clarity) และน่าสนใจ (charisma)

จากความสำเร็จในปีที่ผ่านมา FameLab Thailand เดินทางมาถึงปีที่ 3 โดยมีพันธมิตรร่วมโครงการอย่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, EURAXESS และทรู คอร์ปอเรชั่น

วิทยาศาสตร์สร้างคน

“ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นหัวใจสำคัญของศตวรรษที่ 21 เพราะหลายอาชีพมีความสัมพันธ์กับด้าน STEM ซึ่งโครงการ FameLab สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ใช่แค่การนำเสนอคอนเทนต์ แต่เป็นการผสมผสานระหว่างสาระทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ศิลปะในการสื่อสาร และภาษาอังกฤษ ทำให้การสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องสนุก และเข้าถึงได้ง่าย

“นี่เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้วิทยาศาสตร์ไม่น่าเบื่อ โดยปีที่ผ่านมามีนักวิทยาศาสตร์มาเข้าร่วมโครงการด้วย ซึ่งช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของวงการวิทยาศาสตร์ให้ดูสนุกมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่อยากเรียนวิทยาศาสตร์”

“ขณะเดียวกัน โครงการนี้ยังช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย เพราะนักวิจัยจะต้องสามารถสื่อสาร หรืออธิบายถึงความสำคัญ และรายละเอียดของงานวิจัยให้กับคนภายนอกได้เข้าใจว่า งานวิจัยนั้น ๆ ช่วยแก้ปัญหาประเทศหรือโลกอย่างไร อันนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน และช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน”

นอกจากนั้น การผลักดันให้เกิดการสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จะช่วยดึงดูดให้เด็กและเยาวชนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี อีกทั้งยังตอบโจทย์นโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ว่า วิทย์สร้างคน แก้จน เสริมแกร่ง เพราะสามารถสร้างคนซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศ

พร้อมสื่อสารทุกช่องทาง

สำหรับการเผยแพร่กิจกรรมของ FameLab มีกลุ่มทรูเป็นหัวหอกสำคัญ โดยมี “นพปฎล เดชอุดม” รองประธานคณะผู้บริหาร ด้านพัฒนาองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทนำศักยภาพขององค์กรมาร่วมสนับสนุน โดยทรูวิชั่นส์จะประชาสัมพันธ์การรับสมัครผู้เข้าร่วมแข่งขันตามช่องทางต่าง ๆ อาทิ ช่องรายการของทรูวิชั่นส์, True4You, TNN 24, ทรูปลูกปัญญา รวมถึงโซเชียลมีเดียของกลุ่มทรู และจะทำการถ่ายทอดสดรอบชิงชนะเลิศผ่านช่องทรูปลูกปัญญา ในวันที่ 28 เม.ย. 2561

“เวทีนี้จะช่วยให้เด็กค้นพบศักยภาพของตัวเอง โดยมีกลุ่มทรูร่วมส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนไทยหันมาสนใจ และรักวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพื่อให้คนไทยสามารถก้าวสู่เวทีระดับนานาชาติ โดยโครงการ FameLab ถือว่าสอดคล้องกับพันธกิจของกลุ่มทรู ที่มุ่งมั่นสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยเฉพาะความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง แต่การสื่อสารเรื่องดังกล่าวให้เป็นที่เข้าใจง่าย และน่าสนใจนั้นค่อนข้างยาก ดังนั้น โครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ช่วยคนไทยได้ฝึกฝน และพัฒนาทักษะด้านนี้ให้ดียิ่งขึ้น”

เฟ้นหาตัวแทนแข่งเวทีโลก

“แอนดรูว์ กลาส” ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงโครงการ FameLab ว่าการแข่งขันปีนี้มี 30 กว่าประเทศเข้าร่วม ขณะที่ในไทย คาดว่าจะมีจำนวนผู้สมัครใกล้เคียงกับปีที่แล้ว คืออยู่ที่50 คน โดยคนที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศระดับประเทศทั้ง 10 คน จะได้รับการฝึกอบรมพิเศษแบบเข้มข้น หรือมาสเตอร์คลาส (masterclass) โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์จากสหราชอาณาจักร ซึ่งจะมาเทรนนิ่งให้อย่างเข้มข้นเป็นระยะเวลา 2 วัน ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านการสื่อสาร ภาษาท่าทาง การแสดงออกเพื่อสร้างความดึงดูดคน เป็นต้น

“ผู้ชนะจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยที่จะไปร่วมแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในงานเทศกาลวิทยาศาสตร์ระดับโลก หรือ Cheltenham Science Festival ณ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 5-10 มิ.ย. 2561 ซึ่งนอกจากจะได้รับทุนสนับสนุนแล้ว ยังได้สร้างเครือข่ายจากคนในแวดวงการสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์อีกด้วย”

ทั้งนั้น “แอนดรูว์ กลาส” สะท้อนว่า โลกกำลังประสบกับปัญหาต่าง ๆ เช่น มลพิษทางอากาศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และคนสำคัญในการแก้ปัญหาเหล่านี้ คือ นักวิทยาศาสตร์ รวมถึงทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมได้ ซึ่งคนเห็นความสำคัญของด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น เห็นได้จากการให้ความสนใจกับรถยนต์ไฟฟ้าของ Elon Musk ที่เป็นเทรนด์ไปทั่วโลก

“วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ แต่จะสื่อสารไปยังกลุ่มคนต่าง ๆ ได้อย่างไร อย่างในมหาวิทยาลัยก็มีงานวิจัยจำนวนมาก ซึ่งเขาต้องมีการสื่อสารงานเหล่านั้นออกสู่ภายนอกด้วย โดยโครงการ FameLab จะช่วยทำวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย และทำให้คนทั่วไปเข้าใจถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและโลกอนาคต”

เพราะบริติช เคานซิล เชื่อว่าการสื่อสารที่ดีจะส่งผลโดยตรงให้นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในสายอาชีพมากยิ่งขึ้น ทั้งยังส่งผลทางอ้อมในการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ