PIM สร้างบัณฑิตจาก Passion สู่สนามทำงาน

หากความสำเร็จของสถาบันการศึกษา คือการสร้างเด็กและเยาวชนเข้าสู่โลกการทำงาน ความสำเร็จของเด็กและเยาวชนเหล่านั้น ก็คงเป็นการได้รับทักษะที่ดี ทักษะที่พร้อมทำงานทันที หรือ Ready to Work เพื่อไปช่วยตอบโจทย์องค์กรที่ได้เข้าทำงาน จนเป็นฟันเฟืองสำคัญสร้างความสำเร็จให้องค์กรเหล่านั้น และสร้างความสำเร็จให้ประเทศชาติ เรื่องหนึ่งที่บัณฑิตของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ประทับใจและมอบเป็นแง่คิดให้แก่เด็กและเยาวชนในภาคการศึกษารุ่นต่อไป คือการนำทักษะ “การบูรณาการ” ไปใช้ในโลกการทำงาน

นางสาวสุวนันท์ ยอดมหาวรรณ บัณฑิตคณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาจีนธุรกิจ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เล่าว่า ความตั้งใจ หรือ Passion ดั้งเดิมของเธอ คือการเรียนภาษาจีน ซึ่งเธอและครอบครัวเชื่อว่าจะมีประโยชน์อย่างมากในอนาคต หลังจากได้เคยเรียนภาษาจีนในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย จึงได้ตัดสินใจเข้าเรียนต่อที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ในคณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาจีนธุรกิจ เพื่อต่อยอดทักษะด้านภาษาของเธอ รวมถึงเรียนรู้ด้านที่จะมาบูรณาการกันอย่างด้านธุรกิจด้วย

“คนเรียนภาษาส่วนหนึ่งคือต้องเข้าไปทำงานในธุรกิจบริการ สิ่งที่ทำให้เราได้เปรียบคนอื่นจากการเรียนที่นี่ คือการได้ไปฝึกงานจริง เราได้เรียนรู้งานจริง รู้ว่าทักษะอะไรที่เรายังขาดอยู่ เพื่อจะได้เพิ่มเติมในสิ่งที่ตัวเองยังขาด ได้เข้าใจสังคม เข้าใจขั้นตอนการทำงาน ได้เจอปัญหามากมายที่มาหล่อหลอมเราให้แข็งแกร่งขึ้น” นางสาวสุวนันท์ อธิบาย

ประสบการณ์หนึ่งที่ทำให้เธอได้เรียนรู้อย่างมากตั้งแต่ตอนฝึกงาน คือการเรียนรู้ที่จะอดทนอดกลั้น ระงับอารมณ์ระหว่างการทำงานบริการ รู้จักคิด รู้จักพูด มีจิตใจรักบริการ เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด การได้เรียนรู้ควบคู่การปฏิบัติจริง ผนวกกับการบูรณาการทักษะระหว่างทักษะด้านความรู้ (Hard Skills) เช่น ทักษะภาษา ทักษะด้านธุรกิจ กับทักษะด้านอารมณ์ (Soft Skills) เช่น ทักษะการควบคุมอารมณ์ การสื่อสารระหว่างบุคคล ทักษะทางสังคม จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เธอได้ ต่อยอดกับสถานที่ทำงานของเธอในปัจจุบัน

ด้านนางสาวกำไรทิพย์ ทองเพิ่ม หรือ น้องกำไร บัณฑิตคณะวิทยาการจัดการ สาขาการจัดการอสังหาริมทรัพย์และทรัพยากรอาคาร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เล่าว่า ความตั้งใจดั้งเดิมของเธอคือการเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่แล้วก็ได้มาเจอกับคณะวิทยาการจัดการ สาขาการจัดการอสังหาริมทรัพย์และทรัพยากรอาคาร ที่ได้เรียนทั้งด้านการบริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ให้เธอได้เรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ อย่างบูรณาการกัน

“ทุกอย่างที่ได้เรียนมาสามารถนำมาต่อยอดได้จริง ทั้งเรื่องการบริหารพื้นที่ การจัดการคน รวมถึงการอ่านแบบ การเขียนแบบ การเรียนที่นี่ทำให้ได้มีโอกาสฝึกงานจริงตั้งแต่ก่อนเรียนจบ จึงทำให้ได้มองเห็นวิธีการทำงานและเรื่องราวต่างๆ มากกว่าคนอื่น ขณะที่คนอื่นอาจจะเพิ่งเริ่มก้าวแรก แต่เรามีโอกาสได้เรียนรู้ ได้ปฏิบัติจริง จนก้าวไปถึงขั้นที่ 3 ขั้นที่ 4 แล้ว” น้องกำไร เล่า

เธอเล่าต่อไปว่า หลังจบการศึกษา เธอได้งานทำทันทีที่ บริษัท รักษาความปลอดภัย พีซีเอส และ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิสเซส จำกัด (PCS) ในตำแหน่ง Site Coordinator ได้ดูแลตั้งแต่การบริหารจัดการค่าแรง การบริหารจัดการพนักงาน ตลอดจนดูแลพนักงานรักษาความสะอาด และพนักงานรักษาความปลอดภัย เธอจึงรู้สึกดีใจที่ได้เรียนในสถาบันที่มีคณะตรงกับที่ตัวเองอยากเรียน สถาบันที่มีทุนการศึกษา และสถาบันที่ช่วยมอบทักษะให้พร้อมทำงานจริง จนได้งานทำทันที ได้ใช้ความรู้ที่ตัวเองเรียนมา

ขณะที่นางสาวจิณห์นิภา อมรพิพิธกุล บัณฑิตคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร หรือ น้องจูน เล่าว่า การเรียนที่คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ทำให้เธอได้เรียนรู้ทักษะ 3 ด้านมาใช้บูรณาการกัน ได้แก่ 1.ทักษะนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์การเกษตร 2.ทักษะธุรกิจการเกษตร และ 3.ทักษะการจัดการ ทำให้เธอได้เห็นเรื่องราวของแวดวงการเกษตรตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) สามารถติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างถูกจุด และเห็นภาพทั้งหมดเป็นองค์รวม

“เรายังสามารถนำองค์ความรู้ที่เราเรียนมา เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับพี่ๆ ที่เก่งด้านบริหารจัดการ และได้เสริมความรู้ความเข้าใจศัพท์เฉพาะในแวดวงการเกษตรกับพี่ๆ เป็นการช่วยเหลืองานของกันและกัน” น้องจูน บอกเล่า

ทั้งนี้ น้องจูนยังได้นำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมมาช่วยเหลืองานอื่นๆ ในออฟฟิศด้วย เช่น งาน Knowledge Management โดยได้ใช้แนวคิดเกี่ยวกับแอพพลิเคชั่น จัดการเก็บองค์ความรู้เข้าสู่ระบบ เพื่อให้คนในองค์กรเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

ด้าน รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) เปิดเผยว่า โลกยุคถัดจากนี้ ถ้าเชี่ยวชาญแค่ด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ก็จะทำให้ขาดความยืดหยุ่น ไม่สามารถผนึกศาสตร์ความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกันได้ ดังนั้น เวลาเราวางหลักสูตรคณะต่างๆ เราจึงมองด้วยว่าเรียนศาสตร์นี้เพื่อไปทำอะไรต่อ เพื่อผลิตบัณฑิตที่เป็นที่ปรารถนาของทั้งองค์กร สังคม และประเทศชาติ